xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯ ชี้ไตรมาสแรกปี 56 รง.เจ๊งกว่า 187 ราย คนตกงานนับหมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมระบุไตรมาสแรกปี’56 โรงงานปิดกิจการ 187 ราย เลิกจ้างงาน 1 หมื่นรายหลังต้นทุนปรับสูงขึ้น ชี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปิดตัวมากที่สุด เครื่องนุ่งห่ม-อิเล็กทรอนิกส์-เฟอร์นิเจอร์ ด้านบีโอไอเผยความต้องการแรงงาน 48,254 ราย สาขาที่ต้องการมาก วิศวกรรมเครื่องกล

รายงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2556 (มกราคม-มีนาคม) มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตดำเนินกิจการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 187 ราย แจ้งปิดกิจการ มูลค่าลงทุน 3,830 ล้านบาท มีการเลิกจ้างแรงงานกว่า 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกิจการเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป, อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน, เฟอร์นิเจอร์, ซ่อมแซมรถยนต์ เป็นต้น เนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาการขาดทุนจากการดำเนินกิจการ รวมถึงได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

โดยช่วงเดียวกันของปี 2555 มีการปิดกิจการ 321 ราย มูลค่า 2,790 ล้านบาทเลิกจ้างงาน 9,800 คน แสดงให้เห็นว่าโรงงานที่ปิดกิจการในปี 2556 มีขนาดใหญ่กว่าปีที่ผ่านมาและมีปริมาณแรงงานสูง ซึ่งบางโรงงานที่ปิดกิจการมีจ้างงานระดับ 1,000 คนขึ้นไปโดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการเลิกจ้างงานกว่า 10,000 ตำแหน่ง แต่บรรดาแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากหลายโรงงานยังประสบปัญหาในการขาดแคลนแรงงานแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศก็ตาม

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แจ้งว่า ในไตรมาสแรกของปี 2556 (มกราคม-มีนาคม) มีบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอจำนวน 398 โครงการ แจ้งความประสงค์ต้องการแรงงาน 48,254 ราย แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 8,360 ราย, ระดับ ปวช.และ ปวส. 11,568 ราย, ระดับ ป.6-ม.6 จำนวน 27,084 ราย และอื่นๆ 1,242 ราย ส่วนใหญ่เป็นความต้องการในกิจการบริการและสาธารณูปโภค, ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

โดยสาขาปริญญาตรีที่บริษัทต้องการแรงงานมาก คือ วิศวกรรมด้านเครื่องกล 645 คน, วิศวกรรมไฟฟ้า 536 คน, อุตสาหกรรม 478 คน, คอมพิวเตอร์ 295 คน, วิศวกรรมการผลิต 266 คน, โทรคมนาคม 186 คน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานประเภทฝีมือ ทั้งเรื่องของช่างเทคนิค และวิศวกร ดังนั้น ทิศทางนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอนาคตจึงไม่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอีกต่อไป แต่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการทํางานเชิงลึก เพื่อพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น