xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” ชง ครม.ไฟเขียวมาตรการประคอง SMEs อ่วมพิษ 300

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
“กิิตติรัตน์” เตรียมนำเสนอ ครม.พรุ่งนี้ เพื่อพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบของเอสเอ็มอีจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แย้มเน้นเพิ่มขีดความสามารถแก่ผู้ประกอบการ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ (23 เม.ย.) คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (คณะที่ 3) ฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายกิิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน เตรียมเสนอเรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (คณะที่ 3) ฝ่ายเศรษฐกิจ ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มี.ค. 2556 ได้แก่

1. ขอให้รับทราบรายงานผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและผลการดำเนินงาน เพื่อช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ

2. ขอความเห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการตามมาตรการการบรรเทาผลกระทบ จากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เฉพาะมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถดำเนินการได้เอง

3. สำหรับมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการนั้น ให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมพิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

4. ขอความเห็นชอบกรอบแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของภาคอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2557-2561) (การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพด้วยความรู้และปัญญา) และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการ

ด้านนายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 เม.ย.) กระทรวงอุตสาหกรรม จะเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อคณะรัฐมนตรี ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 6,300 ล้านบาท โดยมีเงินวงเงินอุดหนุนช่วยดอกเบี้ย 200 ล้านบาท โครงการคลินิกอุตสาหกรรม ช่วยเหลือเอสเอ็มอีปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงิน 200 ล้านบาท จัดให้มีกองทุนเวนเจอร์แคปิตอลฟันด์ ซึ่งเป็นเครื่องมือเดิมของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ในการเข้าไปร่วมทุนกับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังมีงบประมาณอีก 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้กระทรวงยังขยายมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้กับเอสเอ็มอี 90,000 ราย เดิมมาตรการนี้ ดำเนินการมาตั้งแต่ 1 ต.ค. 55 และจะสิ้นสุด 30 ก.ย. 56 ก็จะ จะขยายออกไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดในปี 59 ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ปีละ 300 ล้านบาท รวมถึง จัดให้มีมาตรการจูงใจ ส่งเสริมการลงทุนของเอสเอ็มอี ผ่านมาตรการของบีโอไอ โดยยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

ส่วนเอสเอ็มอีที่ต้องการขยายการลงทุนวงเงินตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป จะยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนาน 8 ปี รวมทั้งกำหนดสินเชื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิตของเอสเอ็มอีแบงก์ วงเงิน 20,000 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *
กำลังโหลดความคิดเห็น