สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลกระทบการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่ระดับ 28 บาท กระทบหนักทั้งอุตสาหกรรมรายเล็ก และรายใหญ่ เดิมกระทบเฉพาะรายเล็ก ชี้ 10 ประเทศอาเซียนไทยแข็งค่าสุดถึง 5-6% แนะธนาคารแห่งประเทศไทย นำข้อเสนอ 7 มาตรการที่ ส.อ.ท.เสนอมาใช้
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในเช้าวันที่ 18 เม.ย.2556 ที่ระดับ 28.75 นั้น ถือว่าเลวร้ายมาก ซึ่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันพบว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เริ่มได้รับผลกระทบตามไปด้วยถึง 66.7% เพราะดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับการส่งออกจำนวนมาก ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง 10 ประเทศอาเซียน และ 4 ประเทศคู่ค้า ประกอบด้วย จีน บังกลาเทศ อินเดีย และศรีลังกา แล้วประเทศไทยมีความผันผวน และแข็งค่ามากที่สุดในระดับ 5-6%+
อย่างไรก็ตาม เราเคยเสนอ 7 มาตรการ แก้ปัญหาค่าเงินบาทแก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไปแล้วเมื่อช่วงเดือน ม.ค.2556 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และ 2 มาตรการที่ ส.อ.ท.อยากให้เร่งดำเนินการคือ 1.อย่าให้ผันผวนมากกว่านี้ และ 2.ไม่ควรผันผวนมากกว่าประเทศอาเซียนและคู่ค้า ไม่เข้าใจว่าประเทศอาเซียน และคู่ค้าถึงไม่ผันผวนอย่างประเทศไทย ทั้งนี้ ในวันที่ 24 เม.ย.2556 จะหารือกับอุตสาหกรรมทั้ง 42 อุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางในการเตรียมความพร้อม และแก้ปัญหาในประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการในเดือน มี.ค.2556 ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลในเรื่องของค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพไม่ผันผวนแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง ส่งเสริมสนับสนุนการประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาคุณภาพแรงงานรวมถึงแก้ปัญหา ราคา ปริมาณและคุณภาพสินค้าการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ และปลายน้ำอย่างเป็นระบบ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *