เอกลักษณ์น้ำลาย 3 หยด จากปลาตัวอ้วนที่ข้างปลากระป๋อง “ปุ้มปุ้ย” ถือเป็นภาพคุ้นชินสำหรับคนไทยมานานกว่า 30 ปี จากคุณภาพที่ยึดมั่นมาโดยตลอด กลายเป็นเคล็ดลับครองใจผู้บริโภคอยู่หมัด มาวันนี้เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านทายาทรุ่น 2 เข้าบริหาร ทิศทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร เขาจะเติมรอยยิ้มให้ปุ้มปุ้ยได้สดใสแค่ไหนมาดูกัน
“อายุของปลากระป๋องปุ้มปุ้ย เทียบได้กับอายุของผมเลย” เป็นคำกล่าวของชายหนุ่มเสียงนุ่มทายาทธุรกิจปลากระป๋องปุ้มปุ้ย รุ่น 2 “ไกรเสริม โตทับเที่ยง” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หวนอดีตที่มาธุรกิจนี้ว่า หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2522 พี่น้องตะกูลโตทับเที่ยง เปิด บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด จ.ตรัง รุกตลาดปลากระป๋องอย่างจริงจัง หลังจากที่ผ่านมาประเทศมีการนำเข้าปลากระป๋องจากต่างประเทศมาโดยตลอด พร้อมโลโก้ปลาซาดีนตัวปลาข้างกระป๋อง แต่สำหรับปุ้มปุ้ยต้องการสร้างความต่างด้วยการออกแบบโลโก้เป็นปลาตัวโต อ้วนกลม และกลายเป็นที่มาของคำว่า “ปุ้มปุ้ย” ถอดความจากภาษาจีน คำว่า ปุ่ยปุ๊ย แปลว่า อ้วนๆ กลมๆ สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี
ปลาปุ้มปุ้ยต้องมีน้ำลาย 3 หยด ถึงจะเป็นของแท้ รวมถึงยังเป็นโอโก้อมตะนิรันดรกาล ที่เจ้าของธุรกิจไม่ต้องคิดเปลี่ยนใหม่ เพราะตรึงตาผู้บริโภคคนไทยมายาวนาน
แต่การเป็นแบรนด์ที่อยู่ในตลาดมานานบางครั้งก็มีข้อเสีย เพราะจะทำให้คนรู้สึกถึงความเก่าแก่ ล้าสมัย ดังนั้น คำว่า “Refreshing Brand” จึงเกิดขึ้น ที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และแตกไลน์สินค้าเพื่อเอาใจลูกค้าทุกเพศทุกวัย
“แบรนด์ปุ้มปุ้ย หรือ Smiling Fish ถือว่าอยู่ในตลาดไทยมานาน ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เราจำเป็นต้องปรับลุคแบรนด์ให้สดใส ลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นกล้าหยิบสินค้าและตัดสินใจซื้อ อย่างที่ผ่านมาเราก็ปรับในเรื่องของผลิตภัณฑ์เป็นขนมขบเคี้ยว หอยลายอบกรอบ เน้นแพกเกจสะดุดตา และทันสมัย และอนาคตจะเปลี่ยนใช้แบรนด์ปุ้มปุ้ย (Pumpui) ทั้งหมดไม่ว่าจะขายในไทยหรือต่างประเทศก็ตาม เพราะเราอยากให้คำไทยๆ ไปอยู่ในใจต่างชาติบ้าง”
แต่สมัยนี้หากจะให้แพคเกจสวยอย่างเดียว แต่คุณภาพไม่โดนใจลูกค้าคงครองตลาดยาก ดังนั้นในเมื่อประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคเส้นทางการค้าอาเซียน (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเตรียมความพร้อมเพื่อแข่งขันกับตลาดโลกได้ ที่เดิมผลิตภัณฑ์ของปุ้มปุ้ยมีการส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 10-20% เท่านั้น แต่ถือว่าประเทศที่ทำการส่งออกไปนั้นก็ไม่ใช่เล็กๆ อย่างบรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน เกาหลี นิวซีแลนด์ และประเทศในแถบยุโรป ส่วนตลาดอาเซียนก็นำร่องมาหลายปีแล้ว
ดังนั้น ล่าสุดบริษัทฯ วางแผนปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะกระป๋องที่ใช้บรรจุปลา หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในเครือปุ้มปุ้ย ให้สามารถอุ่นในไมโครเวฟได้เพียงเปิดฝา หวังสอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกสบาย และมีเวลาในการปรุงอาหารน้อยลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
“ผมยอมรับว่าปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจปลากระป๋องค่อนข้างสูง แต่สำหรับเราครองตลาดในเรื่องปลากระป๋องปรุงรส ซึ่งมีกว่า 30 รสชาติ แต่ที่นิยมอยู่ก็ประมาณ 20 รสชาติ ปลาราดพริกเป็นผลิตภัณฑ์ขายดีที่สุด โดยปุ้มปุ้ยจะออกรสชาติใหม่ทุกปีเฉลี่ยปีละ 1-2 รสชาติ เพื่อสร้างความหลากหลายให้สินค้าและความแปลกใหม่แก่ตลาด รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ในทุกๆ ด้านแก่ผลิตภัณฑ์ก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน”
จากปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมของตลาดปลากระป๋อง 4,000 ล้านบาท โดยจะแยกเป็นสินค้ากลุ่มพรีเมียม (ราคาขาย 15-20 บาท/กระป๋อง) ซึ่งปุ้มปุ้ยมีส่วนแบ่งอยู่ประมาณ 20-30% ส่วนสินค้าระดับล่าง (ราคา 10-14 บาท/กระป๋อง) มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 10-15% โดยคาดว่าในปีนี้หลังจากการขยายตลาดต่างประเทศให้กว้างขึ้นจะส่งผลให้ธุรกิจโต 12% มูลค่า 1,400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เส้นทางของปลากระป๋องปุ้มปุ้ยจะยาวไกลแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับบริหารความสมดุลในเรื่องคุณภาพกับมาตรฐานให้สอดคล้องกัน เชื่อแน่ว่าผู้บริโภคไม่เปลี่ยนใจไปจากแบรนด์ “ปุ้มปุ้ย” แน่นอน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *