ถ้าเอ่ยถึง “ส้วม” ใครจะคิดว่ากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จังหวัดชุมพร นอกเหนือจากอ่าวทุ่งมะขาม สวนตำหนัก กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หาดทรายรี ฯลฯ นักท่องเที่ยวรู้จักกันในชื่อของ “สวนนายดำ” เจ้าของไอเดีย “สวนนายดำ ชิมส้ม ชมส้วม” ของ “พงษ์ศักดิ์ ฉิ่งสุวรรณโรจน์”
“พงษ์ศักดิ์” เป็นลูกชายคนโตของนายดำ เกษตรกรตัวอย่างของประเทศที่ได้รับพระราชทานรางวัลเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งพงษ์ศักดิ์ได้ทิ้งอาชีพนักกฎหมาย หันมาร่วมกับผู้เป็นบิดาขับเคลื่อนแนวคิดเมืองสุขภาพ ทั้งในภาคทฤษฎี และปฏิบัติ ไปพร้อมกับบทบาทของนักธุรกิจที่ยึดหลักของความพอเพียง เป็นแนวทางในการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นว่ากว่า 20 ปี ระหว่างธุรกิจและสังคมนั้นสามารถสร้างคุณค่าร่วมกันได้อย่างสมดุล
พงษ์ศักดิ์เล่าถึงที่มา จุดเริ่มต้นของสวนนายดำว่า มาจากพ่อ (นายดำ) ได้เนรมิตพื้นที่ 300 ไร่ อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ทำสวน เงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง จนมาถึงสวนส้มโชกุนที่สร้างชื่อให้แก่พ่อ จนผลผลิต “สวนนายดำ” เป็นที่ต้องการของตลาด กลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากผู้บริโภค ด้วยคุณภาพ รสชาติที่ดีเยี่ยม และที่สำคัญเป็นผลไม้ปลอดสารพิษ ปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ
หลังจากที่ตนเองได้เรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสอบได้เนติบัณฑิต จากกระทรวงยุติธรรม แทนที่จะไปรับตำแหน่งหน้าที่อันทรงเกียรติ แต่กลับเลือกที่จะกลับมาสืบทอดสายเลือดเกษตรกร พัฒนาสวนผลไม้ของพ่อ ร่วมกับน้องๆ เพราะสุขภาพของพ่อในช่วงนั้นไม่ดีนัก ไม่สามารถทำงานในสวนได้ และถ้าเราไม่ตัดสินใจลงมาทำ สิ่งที่พ่อทุ่มเทก็จะสูญเปล่า
ส่วนที่มาของ “ส้วม” มาจากแนวคิดเมืองสุขภาพที่ทำร่วมกับพ่อในอดีต และที่เลือกทำส้วมเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของสุขภาพที่มีความจำเป็น และใกล้ชิดกับเรามากที่สุด ต้องยอมรับว่าปัจจุบันส้วมสาธารณะเมืองไทย ยังไม่ถูกสุขลักษณะ โดยทำการศึกษาเรื่องราวของส้วมในรูปแบบต่างๆ และนำความรู้ตรงนั้นมาสร้างส้วม และเปิดโอกาสให้กับนักท่องเที่ยว และคนที่สนใจเข้าไปศึกษา และใช้บริการส้วมสาธารณะ โดยไม่ได้คิดค่าบริการ หรือค่าเข้าชมแต่อย่างไร แม้ว่าการทำส้วมในครั้งนี้ คุณพงษ์ศักดิ์ได้ใช้เงินมากถึงหลักสิบล้านบาท ในการเนรมิตส้วมให้คนไทย หรือหน่วยงาน องค์กรที่ต้องมีส้วมสาธารณะ ได้นำแบบอย่างไปพัฒนาสร้างส้วมสาธารณะที่มีคุณภาพ เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวได้มาเมืองไทย สิ่งที่ได้รับสัมผัส นอกเหนือจากความสวยงาม และธรรมชาติของเมืองไทยแล้ว ส้วมสาธารณะก็ถือว่า เป็นสิ่งที่จะเชิดหน้าชูตา และให้นักท่องเที่ยวได้นำไปบอกกล่าวกับคนอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ จากความตั้งใจที่จะทำให้ ส้วมสาธารณะเมืองไทย โดยเฉพาะ โรงเรียนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของส้วม คุณพงษ์ศักดิ์ได้ขับเคลื่อนเรื่อง “ส้วม” มานานกว่า 15-16 ปี และได้เป็นทูตส้วม ของกรมอนามัย ตั้งแต่ปี 2549 ใช้เวลาในการศึกษาเรื่องราวของส้วมตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงปัจจุบัน และนำมาถ่ายทอดสร้างส้วมในรูปแบบต่างๆ ภายในสวนนายดำให้คนทั่วไปได้ศึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ปัจจุบัน สวนนายดำได้ถูกปรับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร หลังจากที่สวนนายดำประสบปัญหาเรื่องราคาผลผลิตการเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้คุณพงษ์ศักดิ์คิดปรับหาวีธีทำอย่างไรให้ลูกค้าเดินทางมาซื้อผลไม้จากสวนของเรา จึงได้ปรับสวนใหม่ให้มีความร่มรื่น ปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ปกคลุมพื้นที่ เพื่อสร้างความร่มรื่นตามธรรมชาติ หลังจากนั้น มีคนเข้ามาเที่ยวในสวนของเรามากขึ้น พร้อมกับซื้อผลไม้ และของที่ระลึกอื่นติดไม้ติดมือกลับไป รายได้ของสวนนายดำ แม้จะไม่ได้มากแต่เป็นรายได้ที่ทำให้สวนนายดำสามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและธุรกิจไปพร้อมกัน
จุดเด่นของส้วมนายดำอยู่ที่สร้างส้วม โดยห้อมล้อมอยู่กับธรรมชาติ ตรงจุดนี้เองทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวสวนเกษตรนายดำ นอกจากจะได้ชื่นชมธรรมชาติ ได้กินผลไม้แล้ว ยังได้สัมผัสความรู้เรื่องและความสวยงามของส้วมในรูปแบบต่างๆ ด้วย
พงษ์ศักดิ์เล่าว่า ปัจจุบันสวนนายดำคนจะรู้ในเรื่องของส้วมมากกว่าการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร คนที่แวะผ่านไปมา ต้องแวะเข้ามาชื่นชมและใช้บริการ โดยไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยว เมื่อมาเที่ยวชมก็ซื้อของที่ระลึกและผลไม้กลับไป รายได้มาจากการขายของที่ระลึก และขายผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จากภายในสวน ซึ่งมีนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาเยี่ยมชมจนถึงปัจจุบันมากกว่า 2 แสนคน โดยมีทั้งคนไทยและต่างชาติ รวมไปถึงหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ได้นำรูปแบบของส้วมสาธารณะของเราไปปรับใช้กับองค์กร หน่วยงานของตัวเอง จากในอดีตที่เมืองไทยมีส้วมสาธารณะที่มีคุณภาพ เพียง 6% ปัจจุบันมีมากถึง 52%
โทร. 08-9652-0732
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *