ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จับมือกรุงเทพธุรกิจ เผยผลสำรวจ CEO พบความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยลดลง หวั่นวิกฤตบาทแข็ง ค่าแรง 300 บาทส่งผลต่อศักยภาพแข่งขันลด
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และกรุงเทพธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นผู้บริหาร CEO Sentiment Index ประจำเดือน ม.ค.-ก.พ. โดยสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัท 418 คน ระหว่างวันที่ 29 ม.ค.-4 ก.พ. 2556 เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ ผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ตลอดจนการปรับตัว
ทั้งนี้ ในประเด็นผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท ผู้บริหารส่วนใหญ่ร้อยละ 63.7 ระบุว่าส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 22.4 ระบุว่าต้นทุนการทำธุรกิจยังไม่เปลี่ยนแปลง และร้อยละ 13.9 ระบุว่าต้นทุนลดลง โดยต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.3 ขณะที่ต้นทุนรวมในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.1 สำหรับแนวทางการปรับตัวของธุรกิจเพื่อรับมือกับผลกระทบดังกล่าว มีการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานมากที่สุดร้อยละ 63.9 รองลงมาคือการลดต้นทุนผลิตในส่วนที่มิใช่ค่าแรงร้อยละ 61.4 ขึ้นราคาสินค้าอยู่ที่ร้อยละ 44.1 นำเครื่องจักรมาใช้แทนพนักงานบางส่วนร้อยละ 39.5 อีกร้อยละ 38.6 ลดงบด้านการลงทุนระยะยาว ผลการสำรวจยังพบว่า ปัจจัยสำคัญที่สุด 5 อันดับแรกที่มีผลต่อการทำธุรกิจในไตรมาส 1 คือภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะเศรษฐกิจไทย ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น ต้นทุนค่าขนส่งและพลังงาน และการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งสูงเท่ากับต้นทุนวัตถุดิบ
สำหรับดัชนีด้านเศรษฐกิจในเดือนมกราคมมีค่าเท่ากับ 39 จุด สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2556 ดีกว่าเดือนธันวาคม 2555 แต่เมื่อพิจารณาถึงการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมปีนี้ พบว่าดัชนีมีค่าลดลงเป็น 22 จุด และ 16 จุด ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงการลดลงของความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้บริหาร โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงคือ การที่อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสสุดท้ายติดลบ การไหลเข้ามาของเงินทุนจนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทที่มีต่อต้นทุนในการทำธุรกิจ
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท การแข็งค่าของเงินบาท และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจไทยในไตรมาส 1 ของปี 2556 แม้ว่าค่าดัชนีทุกตัวมีค่าเป็นบวก แต่การที่แนวโน้มของดัชนีเหล่านี้มีค่าลดลงเป็นตัวสะท้อนการคาดการณ์ของผู้บริหารว่าช่วงเวลาที่เหลือในไตรมาส 1 ของปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายที่ธุรกิจจะต้องหาหนทางรับมือให้ได้