xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.โชว์โมเดลความสำเร็จอุตฯ สิ่งทอ กลยุทธ์ลดต้นทุนกว่า 7 ล้านบาท/ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางศิริรัตน์ จิตต์เสรี รองอธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรมโชว์โมเดลความสำเร็จโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอใจกลางเมือง ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน จาก 2 โครงการ LEAN และ MU ที่สามารถลดต้นทุนกว่า 7 ล้านบาทต่อปี

นางศิริรัตน์ จิตต์เสรี รองอธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน ที่รัฐบาลประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต้องปรับตัว เพราะค่าแรงได้ผลักดันให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการหลายรายมองว่าอาจจะต้องมีการเพิ่มราคาสินค้าอย่างน้อย 18% ถึงจะอยู่รอดซึ่งอาจเป็นไปได้ยากในภาวะของการแข่งขันสูงในตลาด

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการบางรายได้มีการปรับตัวและวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจใหม่ให้สามารถดำเนินต่อไปได้และยังสามารถดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างอุตสาหกรรมสิ่งทอบริษัท เซ็นทรัล เทรดดิ้ง จำกัด ก็สามารถปรับตัวได้ หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการกับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ขาดทุน

นางศิริรัตน์กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก แต่มีสัดส่วนของกำไรสุทธิไม่มาก เช่น กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มอุตสาหกรรมการค้าและบริการ ซึ่งกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มถือเป็นอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง ตามด้วยอุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมการให้บริการอย่างธุรกิจโรงแรม และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งหลังการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำแล้ว หากลองเปรียบเทียบสัดส่วนค่าแรงก่อนปรับขึ้นกับหลังปรับขึ้นนั้น ต้นทุนค่าจ้างสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในปี 2556 จะอยู่ที่ 25-28% เช่น ต้นทุนค่าแรงงานก่อนปรับ 1 มกราคม 2556

หากโรงงานนั้นมีคนงาน 150 คน ได้รับค่าแรง 240 บาทต่อวัน ทำงาน 26 วันต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 12 เดือน ในปีนั้นจะต้องจ่ายค่าแรง 11.232 ล้านบาท แต่เมื่อปรับค่าจ้างแรงงานเป็น 300 บาทแล้ว ปีนั้นจะต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มเป็น 14.040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นปีละ 2.808 ล้านบาท หรือสูงขึ้น 25%

อย่างไรก็ตาม ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้พยายามคิดหามาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่รวมถึงสถานประกอบการต่างๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นภายใต้การจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน ซึ่ง กสอ.จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของผู้ประกอบการ เพื่อลดต้นทุนการผลิตพร้อมกับชดเชยต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน หรือ MDICP ซึ่งเป็นโครงการที่ให้คำปรึกษาเชิงลึกในด้านการปรับปรุงระบบการผลิต การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดการด้านการเงินและบัญชีการจัดการด้านตลาด และการพัฒนาบุคลากรโครงการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิตการจัดการการตลาด และการบริการ (Consultancy Fund : CF)โครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (Total Energy Management : TEM)ด้วยแนวคิดในการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุด

โครงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ : Enhancing SMEs Competitiveness ThroughIT (ECIT) โดยการนำระบบ IT มาช่วยในการบริหารจัดการภายในโรงงานกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEs ด้วยระบบ LEAN ซึ่งเริ่มโครงการฯ มาตั้งแต่ ปี 51 จนถึง ปี 55 รวม SMEs ที่เข้าโครงการฯ ทั้งสิ้นกว่า 315 ราย มีผลทำให้สถานประกอบการสามารถลดความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นภายในองค์กร รวมถึงลดต้นทุนในการผลิตสินค้าให้ลดต่ำลงมากที่สุด โดยเฉพาะในปี 2555 มี SMEs เข้าร่วมโครงการ 105 ราย ทำให้ต้นทุนการผลิตที่ลดลงรวมเป็นจำนวน 593 ล้านบาท

ส่วนกิจกรรมการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก แก่ SMEs ในอุตสาหกรรมรายสาขาเป็นกิจกรรมการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการ เช่น ด้านเทคโนโลยีการผลิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดการ และการตลาด เป็นต้น ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 15 ปี มีสถานประกอบการเข้าร่วมกว่า 2,000 กิจการ โดยในปี 2555 มีสถานประกอบการเข้ารับบริการจำนวน 110 ราย สามารถเพิ่มผลิตภาพได้ทั้งสิ้นกว่า 2,200 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น