xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.ชี้รายย่อยไทยต้องเร่งสร้างมาตรฐาน เพื่อรับมือการค้าปี 58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กสอ.จับมือผู้ประกอบการใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมร่วมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน หลังจากประสบความสำเร็จในการผลิตผู้ประกอบการไทยระดับคุณภาพไปแล้วกว่า 700 ราย รวมมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท

นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน หรือ โครงการ MDICP เป็นโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการสูงขึ้นในหลายๆ ด้านพร้อมๆ กัน และยกระดับไปสู่มาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในกลุ่มประเทศอาเซียนและนานาประเทศ ด้วยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์จากภาครัฐและเอกชนไปให้คำปรึกษาแนะนำในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ อันประกอบไปด้วยโครงการย่อยจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ MDICP 3 แผนงาน MDICP - SP และโครงการ MDICP - PIA โดยตลอดระยะเวลากว่า 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2542 มีผู้ประกอบการผ่านการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของโครงการ MDICP ไปแล้วกว่า 700 ราย และสามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ได้ในเชิงประจักษ์ สร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท

โดยในปี 2556 กรมฯ ตั้งเป้าหมายในการคัดสรรผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 56 กิจการ แบ่งเป็นสถานประกอบการในภูมิภาคจำนวน 31 กิจการ และสถานประกอบการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกจำนวน 25 กิจการ อันประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายครอบคลุม 11 กลุ่ม อันได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มเซรามิกและแก้ว กลุ่มพลาสติก กลุ่มยาและเคมีภัณฑ์ กลุ่มโลหการ กลุ่มไม้และเครื่องเรือน กลุ่มเครื่องหนัง กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยเบื้องต้นได้นำร่องลงนามความร่วมมือกับผู้ประกอบการกลุ่มแรกประจำปี 2556 จำนวน 25 รายทั่วประเทศไทยในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น บริษัทผลิตเครื่องสำอาง บริษัทผลิตขนมขบเคี้ยว บริษัทผลิตหินลับมีด-หินเจียรอุตสาหกรรม บริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์เด็กทำจากไม้ และบริษัทผลิตเครื่องปรุงรส เป็นต้น

นายโสภณกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อมกว่า 3 ล้านกิจการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 38 ของ GDP รวมทั้งประเทศ และมูลค่าการส่งออกกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ แต่การดำเนินธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงยุคโลกาภิวัตน์อย่างในปัจจุบัน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลา ต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจน ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ รวมทั้งการหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อโอกาสทางการค้าการลงทุนที่จะขยายตัวต่อไป ซึ่งภาครัฐโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีบริการในหลากหลายรูปแบบเพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริมผู้ประกอบการในการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ไม่ใช่เพียงการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ นักลงทุนจากต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ในปี 2558 ซึ่งคาดว่าจะมีภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งรายเล็กและรายใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศอีกมากกว่า 5,000 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น