ก.อุตฯ ชง 5 กลุ่มเอสเอ็มอีเป็นอุตสาหกรรมหลักในการส่งเสริม เสนอต่อที่ประชุมเวิร์กชอปในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน มิ.ย. อีกทั้งเร่งส่งเสริมเอสเอ็มอีผ่านโครงการ MDICP ยกระดับความสามารถรับเปิดเสรีอาเซียน
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเอสเอ็มอีไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีเตรียมข้อมูลก่อนที่จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเอสเอ็มอีไทยในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมิถุนายน 2555 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดกรอบเอสเอ็มอีที่จะสนับสนุน 5 กลุ่ม คือ 1. กิจการสนับสนุนการส่งออก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ 2. กิจการที่มีการกระจายรายได้สูง เช่น ไอที ลอจิสติกส์ 3. กิจการทดแทนการนำเข้า 4. กิจการมูลค่าเพิ่มสูง 5. กิจการเพื่อสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา
นอกจากนั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งเดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เพื่อให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมไปถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitive Programme : MDICP)
โดยการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา กสอ.ได้พัฒนาสถานประกอบการทั่วประเทศภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งมีผลสำเร็จทั้งในด้านการเพิ่มยอดขาย มีการขยายการลงทุนใหม่ ลดต้นทุนการผลิต และลดของเสีย รวมทั้งยังได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 4,173.97 ล้านบาท จาก SMEs ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 110 ราย
โครงการ MDICP มีเป้าหมายหลักที่สำคัญคือ การพัฒนา SMEs ภาคการผลิตและภาคบริการของไทย ที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศให้เข้าสู่ระบบการค้าสากล และสามารถสร้างสมรรถนะในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรม โดยยกระดับตั้งแต่ ระบบการผลิต ระบบมาตรฐานสากล การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ การบริหารการเงิน การตลาด และการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้วิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ มีการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้พร้อมรับการแข่งขันทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ จากการเริ่มต้นดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจำนวน 608 กิจการ เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ทำให้บริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานสากลจำนวน 102 กิจการ สร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 20,686.69 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 3,933 คน ช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดของเสีย คิดเป็นมูลค่า 2,727 ล้านบาท ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 1,125 ล้านบาท นำมาซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักร และระบบสารสนเทศรวมเป็นมูลค่า 1,947 ล้านบาท และเกิดการลงทุนขยายกิจการเป็นมูลค่า 4,555 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อไม่นานมานี้ ทาง กสอ.ได้จัดพิธีมอบเกียรติบัตรและเผยแพร่ผลงานโครงการ MDICP ให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการปี 2554 จำนวน 110 ราย และยังมีการมอบโล่รางวัลดีเด่นแก่วิสาหกิจที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทรางวัล รวมมีวิสาหกิจได้รับโล่รางวัลดีเด่นจำนวน 25 กิจการ