xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจภาระหนี้และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ดำเนินการสำรวจผู้ประกอบการการ SMEs ถึงภาระหนี้และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs พบ ธุรกิจขนาดเล็ก เข้าถึงสถาบันการเงิน เพียง ร้อยละ 35.74 ขณะที่ธุรกิจกลางสามารถเข้าถึงสถาบันการเงินถึงร้อยละ 72 และพบธุรกิจขนาดกลางมีการกู้ยืมเงินนอกระบบสูงสุดร้อยละ 27

โดยการสำรวจภาระหนี้และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs ได้ดำเนินการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งกิจการขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ในภาคการค้าและบริการ เพื่อนำผลของการสำรวจมาเปรียบเทียบศักยภาพทางด้านการเงินของกิจการแต่ละขนาดว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ จำนวน 805 กิจการ ซึ่งจากผลการสำรวจในส่วนของแหล่งเงินทุนหลักและแหล่งเงินทุนหมุนเวียนหลักของกิจการ ในส่วนของแหล่งเงินทุนหลักของกิจการขนาดกลาง ร้อยละ 72.00 จะมาจากเงินกู้จากสถานบันการเงิน ร้อยละ 26.67 จะมาจากกำไรสะสมของกิจการเป็นหลัก และกิจการขนาดใหญ่ ร้อยละ 53.33 จากเงินกู้จากสถานบันการเงิน และร้อยละ 46.67 มาจากกำไรสะสมของกิจการเป็นหลัก

ในขณะที่ร้อยละ 35.74 ของกิจการขนาดเล็กจะมาจากการกู้สถาบันการเงิน รองลงมาร้อยละ 31.98 มาจากกำไรสะสมของกิจการ ยังมีแหล่งเงินทุนหมุนเวียนจากตนเอง/ญาติ/เพื่อน ร้อยละ 30.78 จากหุ้นส่วน ร้อยละ 0.45 และจากเงินทุนนอกระบบ ร้อยละ 0.45 ในส่วนของแหล่งเงินทุนหมุนเวียนหลักของกิจการขนาดใหญ่ ร้อยละ 70.45 มาจากกำไรสะสมของกิจการ รองลงมาร้อยละ 27.27 ใช้จากการกู้สถาบันการเงิน กิจการขนาดกลางแหล่งเงินทุนหมุนเวียนหลัก ร้อยละ 64.00 มาจากกำไรสะสมของกิจการ และร้อยละ 36.00 มาจากการกู้สถาบันการเงิน

ในส่วนของกิจการขนาดเล็กแหล่งเงินทุนหมุนเวียนหลักจะมาจากหลายแหล่ง ร้อยละ 74.74 มาจากกำไรสะสมของกิจการ รองลงมา 21.20 มาจากการกู้สถาบันการเงิน ร้อยละ 3.61 มาจากตนเอง/ญาติ/เพื่อน อีกร้อยละ 0.30 มาจากหุ้นส่วน และร้อยละ 0.15 มาจากเงินทุนนอกระบบ

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในส่วนของรูปแบบการกู้ยืมเงินของกิจการ กิจการขนาดใหญ่ ร้อยละ 100 กู้ยืมเงินในระบบ กิจการขนาดกลาง ร้อยละ 98.68 จะมีการกู้เงินในระบบ และร้อยละ 1.32 ไม่เคยกู้ยืมเงินในระบบ ในขณะที่กิจการขนาดเล็กมีสัดส่วนการกู้ยืมเงินในระบบอยู่ในระดับต่ำที่สุด ร้อยละ 63.96 เมื่อเทียบกับทุกขนาดกิจการ และเมื่อพิจารณาการกู้ยืมเงินนอกระบบ กิจการขนาดใหญ่ทั้งหมดไม่มีการกู้ยืมเงินนอกระบบ กิจการขนาดกลาง ร้อยละ 27.63 และกิจการขนาดเล็ก ร้อยละ 18.60 มีการกู้ยืมเงินทุนนอกระบบอยู่บ้าง

เมื่อพิจารณาในส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่มีการกู้เงินในระบบผ่านสถาบันการเงินทั้งหมดเคยได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ในขณะที่กิจการขนาดเล็กจำนวนมาก ร้อยละ 62.58 เคยได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน อีกร้อยละ 37.42 ไม่เคยได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งจากผลการสำรวจดังกล่าวสามารถเปรียบเทียบให้เห็นถึงศักยภาพด้านการเงินของกิจการในแต่ละขนาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของกิจการขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีมากกว่ากิจการขนาดเล็กค่อนข้างชัดเจน

เหตุผลที่ผู้ประกอบการกิจการขนาดเล็กมีความเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของกิจการตน เนื่องจากการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน การไม่มีแผนธุรกิจที่ดี และขาดประวัติการชำระเงิน/เป็นกิจการใหม่ ในส่วนของความยากในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน มีความเห็นว่า การกู้เงินจากสถาบันการเงินมีเงื่อนไขที่เข้มงวดมากเกินไป ซึ่งปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของกิจการขนาดเล็กเป็นผลมาจากข้อจำกัดทั้งในส่วนของกิจการเองและข้อจำกัดในส่วนของสถาบันการเงิน ในส่วนของการเลือกที่จะกู้ยืมในกรณีที่กิจการมีความต้องการเงินทุนกิจการขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งหมดเลือกที่จะกู้ยืมเงินในระบบ ขณะที่กิจการขนาดเล็กแม้ส่วนใหญ่จะเลือกกู้เงินในระบบแต่ก็มีกิจการบางส่วนเลือกที่จะกู้เงินนอกระบบ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเห็นว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่มีความรวดเร็วและกู้ง่ายเป็นหลัก

กล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับการสำรวจภาระหนี้และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกิจการในภาพรวมถือว่าค่อนข้างดี เนื่องจากผลการสำรวจสามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ประกอบการธุรกิจในทุกขนาดมีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนในระบบเป็นสำคัญ แม้จะมีกิจการบางส่วนที่มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบอยู่บ้าง แต่ก็มีการพึ่งพาอยู่ในสัดส่วนที่ไม่มากนัก จากผลการสำรวจสรุปได้ว่า กิจการขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกิจการขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงื่อนไขในด้านการกู้ยืมที่เข้มงวดของสถาบันการเงินส่งผลให้กิจการขนาดเล็กไม่เข้าเงื่อนไขในด้านต่างๆ และไม่สามารถได้รับอนุมัติสินเชื่อได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการลดเงื่อนไขและความเข้มงวดของกฎระเบียบในการกู้ยืมให้มีความผ่อนคลายลงและมีความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้กิจการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบได้เพิ่มมากขึ้น

อีกส่วนเป็นผลมาจากศักยภาพในตัวธุรกิจเอง ซึ่งจากผลสำรวจในด้านของการดำเนินกิจการทั่วไปในด้านการจัดทำแผนธุรกิจ การจัดทำแผนการตลาดของกิจการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้มีการจัดทำแผนธุรกิจและแผนการตลาด รวมถึงการจัดทำบัญชีที่ไม่เป็นระบบมาตรฐาน เนื่องจากกิจการส่วนใหญ่มีการจัดทำบัญชีเองและขาดข้อมูลทางบัญชีย้อนหลัง ส่งผลให้ในการกู้ยืมเงินจากสถาบันทำได้ยากขึ้น

เนื่องจากสถาบันการเงินจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากแผนธุรกิจ ความสามารถในการสร้างรายได้ของกิจการ รวมถึงพิจารณาในส่วนของงบการเงินของกิจการย้อนหลังว่ามีความเหมาะสมที่จะอนุมัติสินเชื่อหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจเข้าไปให้ความรู้ในด้านของการดำเนินกิจการ การวางแผนธุรกิจ และการวางแผนทางการเงินของกิจการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการให้มีประสิทธิภาพให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการขนาดเล็ก เนื่องจากกิจการมีเงินลงทุนที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจและขยายธุรกิจและมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง

ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการเพื่อให้กิจการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มขึ้น

1. ควรมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อจะมีส่วนช่วยให้กิจการมีต้นทุนด้านการเงินที่ลดลงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของกกิจการได้อีกทางหนึ่ง
2. การลดขั้นตอนในการขอกู้ที่ยุ่งยากลง รวมถึงลดระยะเวลาในการพิจารณาสินเชื่อลง ซึ่งจะมีส่วนอย่างมากในการสร้างความคล่องตัวทางการเงินให้แก่กิจการ
3. ควรมีการลดในส่วนของหลักทรัพย์ในการค้ำประกันลง เพื่อให้กิจการโดยเฉพาะกิจการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้เพิ่มมากขึ้น
4. ต้องการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงินมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงมีระยะเวลาในการผ่อนชำระที่ยาวขึ้น เพื่อเป็นการสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้แก่กิจการ
5. ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงินลดเงื่อนไขในด้านของหลักทรัพย์ในการค้ำประกันการกู้ยืมลง เพื่อให้กิจการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มขึ้น

                                         *********************

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
กำลังโหลดความคิดเห็น