สสว.เผยมาตรการช่วยเหลือ SMEs ได้รับผลกระทบจากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มุ่งเป้าไปที่การลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ 3 โครงการ ต้นทุนพลังงาน นำระบบสารสนเทศมาช่วยบริหารจัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยกระดับมาตรฐานคุณภาพ
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงมาตรการในการให้ความช่วยเหลือ SMEs จากผลกระทบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่า ในฐานะที่ สสว.เป็นหน่วยงานส่งเสริมด้านนโยบายและแผนผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ในส่วนของ สสว.ได้เตรียมแผนรองรับการช่วยเหลือในครั้งนี้ไว้ 3 โครงการหลัก โดยเป็นการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ SMEs ประกอบด้วย
โครงการลดต้นทุนพลังงาน โครงการลดต้นทุนด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity)
โครงการลดต้นทุนด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มาบริหารจัดการ
เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และยกระดับมาตรฐานคุณภาพ ฯลฯ
ทั้งนี้ จากการศึกษาผลกระทบจากค่าจ้าง 300 บาท พบว่านโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ในพื้นที่ 70 จังหวัด ส่งผลให้มีการปรับค่าแรงเพิ่มประมาณร้อยละ 10-35 โดยจังหวัดต่ำสุดคือจังหวัดชลบุรี ร้อยละ 9.89 และสูงสุดคือ พะเยา ร้อยละ 35.14
สำหรับพื้นที่ที่มีการจ้างแรงงานสูงสุด มีธุรกิจ SMEs จ้างแรงงานมากกว่า 100,000 คน ได้แก่ กลุ่มจังหวัดในภาคกลาง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ระยอง ชลบุรี ซึ่งจะมีค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 9-13 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปอีกร้อยละ 17-34 และภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย แพร่ นครสวรรค์ ซึ่งจะมีค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 19-35 ส่วนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง ซึ่งจะมีค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 22-25
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ สสว.พบว่า ในส่วนของต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนแรงงานเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 11.8 ของต้นทุนปัจจัยการผลิตทั้งหมด ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในทุกๆ จังหวัดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.72 กลุ่มธุรกิจในภาคการผลิตที่ใช้แรงงานมาก เช่น เฟอร์นิเจอร์หวาย ผลิตพลอยเจียระไน ผลิตเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ไม้ ฯลฯ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยระหว่างร้อยละ 15 - 28 ภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรม รับเหมาสร้างบ้าน การขนส่งทางบก ฯลฯ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยระหว่างร้อยละ 22-33 ภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะที่อยู่นอกทะเบียนนิติบุคคล (ประมาณ 2.3 ล้านราย) หันไปใช้แรงงานต่างด้าวนอกระบบเพิ่มมากขึ้น
----------------------------------------------