xs
xsm
sm
md
lg

ชง 4 แนวทางบริหาร ศก. มหภาค ดันจีดีพีอัดงบกระตุ้น-ผ่อนคลายภาคการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ เสนอ 4 ประเด็นบริหารนโยบาย ศก. มหภาค เร่งฟื้นฟูภาคการผลิต แนะอัดเม็ดเงินกระตุ้น “จีดีพี” ชดเชย “ส่งออก” วูบ พร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงิน และรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อหนุนการเติบโตทาง ศก. ช่วงที่เหลือในปีนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวระหว่างการแถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/2555 วันนี้ โดยระบุว่า สศช.ได้เสนอประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี ความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ในขณะที่การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังยังมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน แนวโน้มดังกล่าวทำให้การขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังยังต้องพึ่งพิงอุปสงค์ในประเทศ ดังนั้น การบริหารนโยบายเศรษฐกิจจึงควรให้ความสำคัญกับ

1.เร่งรัดการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยเพื่อให้สามารถกลับมาใช้กำลังการผลิตได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจ และใช้กำลังการผลิตจากฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างเต็มที่

2.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และการดำเนินการตามโครงการลงทุนสำคัญๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะเร่งด่วนเพื่อใช้ประโยชน์จากการขยายตัวของรายจ่ายภาครัฐในการชดเชยการชะลอตัวของภาคการส่งออก สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งการเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญอื่นๆ ของรัฐวิสาหกิจ

3.ดำเนินนโยบายการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในภาวะผ่อนคลาย ในช่วงครึ่งปีหลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพิงแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ อีกทั้งการขยายตัวของภาคการส่งออกในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังต้องได้รับปัจจัยสนับสนุนจากขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

4.ดูแล และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะในผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยการเร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพื่อลดแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ และสนับสนุนการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว และการเตรียมการเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และลดชั่วโมงการทำงานในช่วงของการปรับตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น