“สภาพัฒน์” เปิดแถลงตัวเลข “จีดีพี” ไตรมาส 1/55 ขยายตัวได้ 0.3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นถึง 11% เทียบไตรมาส 4 ปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต การบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกปรับตัวดีขึ้น พร้อมคาดทั้งปีขยายตัว 5.5-6.0%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2555 โดยพบว่ามีการขยายตัวได้ถึง 0.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 11% การขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาส 1 มีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต การบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกปรับตัวดีขึ้น
ส่วนการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัว 5.5-6.5% จากการขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยคาดว่าการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว 4.5% และ 12.3% ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 15.1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 3.5-4.0% อัตราการว่างงาน 0.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต การบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกปรับตัวดีขึ้น
การประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัว 5.5-6.5% จากการขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยคาดว่าการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว 4.5% และ 12.3% ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 15.1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 3.5-4.0% อัตราการว่างงาน 0.7% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.7% ของ GDP
เลขาฯ สศช.กล่าวเสริมว่า ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2555 ที่สำคัญ ได้แก่ (1) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและเร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศเพื่อชดเชยการหดตัวของงบลงทุนภาครัฐในไตรมาสแรกในช่วงที่โครงการยังอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อม รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน พร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
(2) การแก้ไขปัญหาให้แก่ภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ยังมีความล่าช้าในการฟื้นตัว โดยเฉพาะการผลิตในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่การใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นและได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง
(3) การดูแลและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยการเร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพื่อลดแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและสนับสนุนการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต การพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว
การเตรียมการเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและลดชั่วโมงการทำงานในช่วงของการปรับตัว รวมถึงการเร่งรัดโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ได้รับความเสียหายปี 2554 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเบิกจ่ายอยู่เพียงประมาณ 0.97% จากวงเงินรวม
(4) การแก้ไขปัญหาราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคของครัวเรือนให้มีความสอดคล้องและเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ค้าคนกลาง และผู้บริโภค ซึ่งจะมีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาวะเงินเฟ้อของประเทศ รวมถึงการประสานแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้การสนับสนุนด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดของสินค้าเกษตร สอดคล้องกับความผันผวนตามฤดูกาลของแต่ละสินค้า และลดความผันผวนของราคา
(5) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแต่เป็นการขยายตัวที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจากฐานการผลิตที่ต่ำในปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น การขยายตัวของภาคการผลิตในช่วงที่เหลือของปียังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นและความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ