สรรพากรตื่นตัวรับ AEC เล็งให้ผู้ซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตต้องยื่นนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ระบุหากไม่ทำหวั่นรายได้ภาษีวูบ หลังเปิดเสรีอาเซียนตลาดขายสินค้าทางเว็บบูมทั่วโลก แบงก์ชาติเปิดประมูลพันธบัตร ต.ค. วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท อายุ 13 วัน
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจขายสินค้าบนโลกออนไลน์ต้องเตรียมยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยทางกรมฯ จะยังไม่ขึ้นภาษีใดๆ แต่อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ ให้มีความทันสมัยรองรับเออีซี เช่น เมื่อเปิดเสรีอาเซียนก็จะมีการทำการค้าข้ามชาติเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คืออีก 1-2 ปี จะทำให้ลูกค้ามีสิทธิ์เลือกใช้บริการในประเทศหรือเลือกจากต่างประเทศก็ได้ เช่น การซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตที่ไม่ต้องมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ดังนั้น ถ้าสินค้าต่างประเทศราคาถูกกว่าและดีกว่าก็จะไหลทะลักเข้ามาในประเทศ แล้วกรมสรรพากรจะเก็บภาษีอย่างไร เนื่องจากแตกต่างจากการซื้อขายสินค้าในประเทศที่เก็บจากการซื้อการขายได้ง่าย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้สั่งการให้กรมสรรพากรไปดูวิธีการ ซึ่งทางกรมฯ มีการคิดแนวทางปฏิบัติเอาไว้บ้าง เช่น การให้ผู้ซื้อเป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแทนในบางกรณี อย่างที่เรามีอยู่ตอนนี้ คือ ภ.พ.36 แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร คือ จ่ายค่าบริการบางอย่างไปเมืองนอกก็ต้องมีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเราอาจจะขยายตัวนี้ไปยังบริการตัวอื่นๆ และยังมีแนวทางอีกหลากหลายวิธีที่กำลังจะรายงานให้กระทรวงการคลังได้พิจารณาก่อน เพื่อให้ผู้จ่ายจะต้องเป็นคนนำส่งเอง โดยการยื่นแบบ ภ.พ.36
“เรากำลังศึกษาแนวทางดังกล่าวอยู่ ยังไม่ได้นำมาใช้ในไทย แต่ก็เห็นแนวทางอย่างนี้เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศแล้ว โดยเห็นว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการรองรับการเปิดเสรีอาเซียน เพราะเมื่อมีการเปิดแล้วทุกคนก็จะมีการแข่งขันกันทำเว็บไซต์สวยๆ มีผลิตภัณฑ์ที่สวยงามเพื่อเรียกลูกค้า ซึ่งมันจะง่ายกว่าการซื้อสินค้าภายในประเทศ ดังนั้น ถ้าเราไม่มีการปรับปรุงการเก็บภาษีตัวนี้ให้ทันสมัยตัวรายได้ภาษีจากตรงนี้ก็จะหายไปเลย เพราะใครซื้อสินค้าในประเทศก็จะโดยแวต แต่เมื่อคนซื้อจากต่างประเทศไม่โดยแวตก็จะหันไปซื้อจากต่างประเทศกันใหญ่ ประเทศก็จะเสียหาย ดังนั้นจึงต้องดูว่าทำอย่างไรให้มีเก็บเหมือนกัน เพื่อให้ในประเทศแข่งขันกับต่างประเทศได้” นายสาธิตกล่าว