xs
xsm
sm
md
lg

โต้งรับลูกแก้ภาษี แยกกระเป๋าผัวเมีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังให้นโยบายสรรพากรทบทวนแก้กฎหมายให้สามี-ภรรยาแยกยื่นภาษีเงินได้ เพื่อให้สอดคล้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ด้านสรรพากรยันเปิดช่องให้ภรรยาเลือกได้จะยื่นร่วมหรือแยกยื่น เชื่อหลังจากนี้เดินหน้าเร็วขึ้น

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการให้สามีภรรยาต้องยื่นภาษีร่วมกัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามหลักความเสมอภาคว่า กรมสรรพากรต้องกลับไปทบทวนให้ถูกต้อง ตามหลักกฎหมายและความเหมาะสม โดยไม่เน้นเป้าหมายการแสวงหารายได้ ซึ่งยังมีเวลาพิจารณาอีกหลายเดือน ในการปรับแผนให้ถูกต้องเพื่อยื่นภาษีในปี 2556

นางจิตรมณี สุวรรณพูล รองอธิบดีกรมาสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรคงต้องขอพิจารณารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากร่างแก้ไขประมวลรัษฎากรที่เปิดช่องให้สามีและภรรยาแยกยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้นั้นเสนอไปที่กระทรวงการคลังตั้งแต่ 2 เดือนก่อน โดยอาจจะต้องพิจารณาว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ อย่างไร โดยหลังจากนี้มองว่ากระบวนการพิจารณาของกระทรวงการคลังและการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) น่าจะได้รับการผลักดันเร็วขึ้น

“เข้าใจว่าเรื่องนี้ทางสมาคมสตรีเป็นผู้ยื่นเรื่องให้ศาลวินิจฉัยเพราะเรียกร้องให้มีสามีภรรยามีการแยกยื่นภาษีในส่วนของรายได้อื่นๆ มานานแล้ว และกรมสรรพากรก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนเสนอไปที่กระทรวงการคลังแล้วแต่ทางสมาคมอาจจะไม่ทราบเรื่องหรือเห็นว่าเรื่องเงียบไปจึงขอให้ศาลวินิจฉัยเองดังกล่าว ”นางจิตรมณี กล่าวและว่า ทางรมว.คลังก็เรียกเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากคำวินิจฉัยของศาลเบื้องต้นระบุให้ใช้ในปี 56 นั้น อาจจะหมายถึงปีภาษี ซึ่งจะมีผลการยื่นเสียภาษีในปี 57 ขณะนี้เป้าหมายของกรมอยากให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ทันการยื่นเสียภาษีในปี 56 อยู่แล้ว เพราะต้องเข้ากระทบวนการรัฐสภาจึงต้องใช้เวลา จึงน่าจะสอดคล้องกันหรืออาจปรับได้ตามความเหมาะสมและการพตัดสินใจของรัฐบาล

ทั้งนี้ ในร่างแก้ไขประมวลรัษฎากรนั้นได้เปิดช่องให้ภรรยาเลือกได้ว่าจะยื่นร่วมกับสามีเหมือนเดิมหรือต่างคนต่างยื่นภาษีเอง ซึ่งมองว่าการแยกยื่นจะเป็นผลดีในการลดภาระให้ผู้เสียภาษีมากกว่าเพราะทำให้เสียภาษีในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับยื่นร่วมกับสามีที่ต้องไปเสียในอีกอัตราหนึ่งที่สูงกว่า ส่วนสิทธิลดหย่อนก็ต้องนำมาหารสอง เช่น ลดหย่อนบุตร เป็นต้น โดยส่วนนี้ประเมินว่ากรมฯจะสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท

จากการยื่นแบบของสามีที่ระบุว่ายื่นร่วมกับภรรยา ขณะที่ปัจจุบันที่มีผู้ยื่นแบบ 9.6 ล้านราย ยื่นภ.ง.ด.91 หรือเงินเดือนอย่างเดียว 7.5 ล้านราย ภ.ง.ด.90รายได้อื่นๆมี 2 ล้านราย ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อไปจะเลือกได้ว่าแยกยื่นหรือยื่นร่วมกับสามี.
กำลังโหลดความคิดเห็น