xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนในตราสารหนี้ เสีย “ภาษี” อย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยสุชาติ ธนฐิติพันธ์
suchart@thaibma.or.th
02-252-3336 Ext.113
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. ของทุกๆปี ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้มีเงินได้ประเภทต่างๆ ทั้ง 8 ประเภทตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.) ต่อกรมสรรพากรครับ (แต่ในปีนี้ สรรพากรได้ขยายระยะเวลาสำหรับการยื่นภาษีผ่านช่องทาง Internet ไปจนถึงวันที่ 8 เมษายน) ซึ่งการยื่นแบบ ภ.ง.ด. นั้นถือเป็นหน้าที่ของผู้มีเงินได้ทุกคนที่ต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้หากว่าในปีที่ผ่านมาเราเสียภาษีไว้น้อยกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด เรายังมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อชดเชยภาษีในส่วนที่ขาดหายไป แต่ในขณะเดียวกันหากว่าในปีที่ผ่านมาเราเสียภาษีเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ เราก็สามารถขอคืนภาษี (Claim) ในส่วนที่จ่ายเกินไปนั้นกลับมาได้ด้วยเช่นกัน และเช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ครับ นักลงทุนที่อยู่ในฐานะของบุคคลธรรมดา (Individual Investor) หรือ ‘‘นักลงทุนรายย่อย’’ ต่างก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเช่นกัน แต่ในปัจจุบันเรากลับพบว่า การขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตราสารหนี้ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยอีกจำนวนมาก ไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตราสารหนี้ไม่ใช่เรื่องยากหรือมีความสลับซับซ้อนแต่อย่างใดเลยครับ

ซึ่งเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ เราจะแบ่งรูปแบบของผลตอบแทน หรือรายได้ที่จะได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันก่อนคือ รายได้จากดอกเบี้ย (Coupon) รายได้จากส่วนลด (Discount) และรายได้จากกำไรจากการขาย (Capital Gain) ครับ ซึ่งผลตอบแทนหรือรายได้ทั้ง 3 รูปแบบนี้ จะถูกนำมาคิดภาษีในลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน โดยผลตอบแทนที่เราได้รับในรูปของดอกเบี้ย จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ตัวอย่างเช่น ถ้าเราลงทุนซื้อตราสารหนี้ที่สัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยปีละ 100 บาท จำนวนเงินจากดอกเบี้ยที่เราจะได้รับจริงจากการถือตราสารตัวนี้ไว้คือ 85 บาทครับ (อีก 15 บาท หรือ 15% นั้น ถูกคิดเป็นภาษีและถูกหัก ณ ที่จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว)

แต่สำหรับตราสารหนี้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยนั้น โดยทั่วไปแล้วมักจะถูกขายในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าหน้าตั๋ว หรือที่เราเรียกว่าเป็นการขายแบบมีส่วนลด (Discount) และหากว่าผู้ซื้อถือครองเอาไว้โดยไม่ได้ขายให้ใครเลยจนครบเวลาไถ่ถอน ผู้ซื้อจะได้รับเงินคืนเป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าหน้าตั๋ว ตัวอย่างเช่นหากเราลงทุนซื้อตั๋วเงินคลัง (ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย) ที่มีมูลค่าหน้าตั๋วเท่ากับ 1,000 บาท โดยซื้อได้ที่ราคา 940 บาท ส่วนลดจำนวน 60 บาท (1,000 - 940) นี้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ครับ ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อตั๋วเงินคลังรุ่นนี้เป็นจำนวน 940 + 9 (15% ของ 60 บาท) = 949 บาท (จากเดิมที่เราได้ส่วนลดเท่ากับ 60 บาท ก็จะเหลือส่วนลดแค่ 51 บาท เนื่องจากว่าถูกคิดเป็นภาษี 15% และถูกหัก ณ ที่จ่ายไปเรียบร้อยแล้ว) และที่สำคัญภาษีจากส่วนลดนี้จะคิดเพียงแค่ครั้งเดียว และคิดเฉพาะกับผู้ซื้อคนแรกเท่านั้น ถ้าหากว่าผู้ซื้อคนแรกทำการขายให้กับผู้ซื้อคนต่อๆไป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการขายที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าหน้าตั๋วหรือไม่ก็ตาม ก็จะไม่มีการเรียกเก็บภาษีส่วนลดอีก (แต่ยังมีภาษีจากกำไรจากการขาย ที่ต้องถูกนำมาพิจารณากันต่อไป)

สำหรับภาษีประเภทสุดท้ายหรือภาษีที่คิดจากกำไรจากการขาย (Capital Gain Tax) ผู้ขายจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% เช่นกัน แต่ถ้าหากว่าเป็นการขายที่ผู้ขายขาดทุน ก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีครับ ตัวอย่างเช่นหากเราซื้อตราสารหนี้มาที่ราคา 940 บาท และขายไปที่ราคา 980 บาท กำไรที่ได้จากการขายจำนวน 40 บาทนี้ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% หรือเท่ากับ 6 บาทนั่นเอง ซึ่งหมายความว่าเราจะได้รับเงินจากการขายทั้งหมดเท่ากับ 980 - 6 (15% ของ 40 บาท) = 974 บาท แต่ถ้าหากว่าเราซื้อตราสารหนี้มาที่ราคา 940บาท และขายไปที่ราคา 920 บาท เงินที่ขาดทุนไป 20 บาทนี้ ไม่ต้องถูกนำมาคิดภาษีครับ

จะเห็นได้ว่าภาษีของการลงทุนในตราสารหนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนเลยครับ นอกจากนี้แล้วเราจะพบว่า ในปัจจุบันภาษีที่เรียกเก็บจากนักลงทุนรายย่อยจะถูกคิดที่อัตรา 15% เท่ากันสำหรับผลตอบแทนทุกๆประเภทที่ได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ ดังนั้นสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีที่ระดับ 15% (ในปัจจุบันคือผู้ที่มีเงินได้สุทธิต่อปี ไม่เกิน 500,000 บาท) สามารถนำหลักฐานการเสียภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้ แล้วยื่นให้กรมสรรพากรพร้อมๆกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. เพื่อขอคืนภาษีในส่วนที่จ่ายเกิน (15% - 10% = 5%) ได้อีกด้วยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น