คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ เผยจัดเตรียมจัดทำแผนฟื้นฟู 9 เดือน เน้นเพิ่มสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้อยู่ระดับ 8.5 เท่า หลังพบการดำเนินงาน 8 เดือน ยังขาดทุนกว่า 2.2 พันล้านบาท คาดอีก 3 ปี สภาวะการเงินเอสเอ็มอีแบงก์ฟื้นสู่ปกติ
นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้วางเป้าหมายการทำยุทธศาสตร์แผนฟื้นฟูธนาคารไว้ 9 เดือน โดยหลักในการดำเนินการคือจะเพิ่มสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ของเอสเอ็มอีแบงก์ ให้อยู่ในระดับ 8.5 เท่า ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดจากปัจจุบันอยู่ที่ 5.6 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำมาก
ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2555 พบว่าขาดทุนอยู่ราว 2.2 พันล้านบาท ส่วนแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อช่วง 8 เดือนแรก อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าราว 3-4 พันล้านบาท โดยทั้งปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 2.6-2.7 หมื่นล้านบาท ส่วนตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปัจจุบันอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 20% ของหนี้รวมทั้งหมด เพิ่มขึ้น 5-6 พันล้านบาทจากต้นปี และหากไม่แก้ไขภายในสิ้นปีนี้เอ็นพีแอลจะสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้สินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญของธนาคารที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไข
ทั้งนี้ แนวทางการบริหารจัดการเอ็นพีแอลเบื้องต้น คือจะเน้นดูแลเอ็นพีแอลเก่า ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเอ็นพีแอลที่ไม่มีปัญหาการชำระหนี้ และ 2.กลุ่มเอ็นพีแอลที่มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ คือรายได้ไม่สอดคล้องกับการชำระหนี้ โดยกลุ่มนี้อาจต้องเข้าไปช่วยโดยการปรับโครงสร้างหนี้
ส่วนการดำเนินงานเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ก็ยังคงต้องดำเนินควบคู่กันไปด้วย โดยในปี 2556 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถดำเนินการได้ตามแผนยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูภายใน 3 ปี สถานะของเอสเอ็มอีแบงก์จะกลับมาเป็นบวกได้อย่างแน่นอน