xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์เตะ “โสฬส” พ้นเก้าอี้เอ็มดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนริศ ชัยสูตร
บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ลงดาบเด้ง “โสฬส สาครวิศว” หลุดตำแหน่งเอ็มดี ให้มีผลทันที ชี้ปล่อยสินเชื่อผิดข้อบังคับก่อความเสียหายแก่ธนาคาร ดัน “พงษ์ศักดิ์ ชาเจียมเจน” นั่งรักษาการ

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์มีมติเลิกจ้างนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการธนาคาร เนื่องจากกระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับของบอร์ด โดยได้แก้ไขสาระสำคัญในโครงการสินเชื่อชะลอเลิกจ้างจนเป็นเหตุให้มีการปล่อยสินเชื่อเกินวงเงินที่กำหนด ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเครดิตและเสียหายแก่ธนาคาร เบื้องต้นประเมินความเสียหายไม่ต่ำกว่า 311 ล้านบาท

ทั้งนี้ บอร์ดมีมติให้เลิกจ้างนายโสฬสโดยไม่บอกกล่าวและไม่ต้องจ่ายสินไหมทดแทน โดยให้มีผลทันทีนับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคมเป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามผลจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามการร้องเรียนในโครงการดังกล่าว พร้อมกับมีมติแต่งตั้งให้นายพงษ์ศักดิ์ ชาเจียมเจน กรรมการธนาคาร ทำหน้าที่รักษาการแทน

นายนริศเผยด้วยว่า หลังจากนี้บอร์ดจะรายงานเรื่องดังกล่าวให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง รับทราบต่อไป ส่วนกรณีความผิดของนายโสฬสเบื้องต้นยังไม่พบการทุจริต แต่วงเงินที่ปล่อยสินเชื่อดังกล่าวได้สร้างความเสียหายแก่เอสเอ็มอีแบงก์เป็นเงิน 311 ล้านบาท เนื่องจากโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ย 5% นาน 5 ปี โดยสำนักงานประกันสังคมจะนำเงินมาฝากกับเอสเอ็มอีแบงก์ในอัตราดอกเบี้ย 1% ก้อนแรกวงเงิน 6,000 ล้านบาท เท่ากับเอสเอ็มอีแบงก์มีกำไรประมาณ 1-1.5% (หักค่าบริหารและจัดการของธนาคาร) และก้อนที่ 2 อีก 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเงินฝาก 1.5% มีกำไร 1% เท่านั้น แต่เนื่องจากวงเงินที่อนุมัติปล่อยกู้ไปสูงถึง 22,000 ล้านบาท ทำให้เอสเอ็มแบงก์เกิดความเสียหายเพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนแทนลูกค้า ซึ่งโดยปกติเอสเอ็มอีแบงก์ต้องปล่อยสินเชื่อในอัตรา 7-7.5% ถึงจะมีกำไรในด้านการบริหารและจัดการธนาคาร
นายโสฬส สาครวิศว
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิระ ประธานบอร์ดบริหารเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า นายโสฬสได้เข้าไปแก้ไขรายละเอียดหลักเกณฑ์ของโครงการสินเชื่อชะลอเลิกจ้าง 6 ครั้ง จนทำให้วงเงินสินเชื่อโครงการดังกล่าวเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดจำนวนมาก โดยเป้าหมายมีจำนวน 6 พันล้านบาท แต่อนุมัติไปถึง 2.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มีการทำสัญญาไปแล้ว 1.9 หมื่นล้านบาท และ เบิกจ่ายสินเชื่อไปแล้ว 1.3 หมื่นล้านบาท

“ในสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมากนี้เป็นผลจากการเข้าไปแก้ไขรายละเอียดหลักเกณฑ์ของโครงการสินเชื่อ โดยเฉพาะในแง่วงเงิน ซึ่งเดิมบอร์ดอนุมัติให้เพียง 50 ล้านบาท ต่อมาขอแก้ไขเป็น 100 ล้านบาท และ 200 ล้านบาท ซึ่งเราได้พบว่ามีสินเชื่อต่อรายวงเงินไม่เกิน 195 ล้านบาทจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ยังแก้ไขให้ผู้ที่ปรับโครงสร้างหนี้เข้ามาในโครงการนี้ได้ด้วย รวมถึงผู้ประกอบการแฟกตอริ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและเป็นลูกค้าเดิมของแบงก์ที่มีดอกเบี้ยเดิมถึง 7% ด้วย” นายพิชัยกล่าว

ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อชะลอเลิกจ้างเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดปัญหาซับไพรม์ในต่างประเทศ และกระทบต่อผู้ประกอบการของไทย โดยสำนักงานประกันสังคมได้สนับสนุนด้านแหล่งเงินดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อปีจำนวน 6 พันล้านบาทให้แก่เอสเอ็มอีแบงก์นำไปปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปีในระยะเวลา 5 ปี ขณะที่วงเงินส่วนเกินที่มีการอนุมัติสินเชื่อไปนั้น ทางธนาคารได้ไปไฟแนนซ์เงินจากแหล่งอื่น ทำให้เกิดต้นทุนที่แพงมาก และถือเป็นความเสี่ยงด้านดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น