xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด “เอสเอ็มอีแบงก์” ดีเดย์ชี้ชะตาเชือด “โสฬส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นริศ ชัยสูตร
บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ถกเชือด “โสฬส” วันนี้ (14 ส.ค.) หลังไม่ยื่นใบรับรองแพทย์ตามกำหนด ขณะที่ผลสอบ ธปท.ชี้ชัดการบริหารงานมีความบกพร่องหลายอย่าง ขาดทุนไตรมาสแรกพุ่งกว่า 400 ล้านบาท

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์-ธพว.) เปิดเผยว่า วันนี้ (14 สิงหาคม) คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาการลาออกของโสฬส สาครวิศวะ กรรมการผู้จัดการ ธพว.ที่ได้ยื่นหนังสือลาออกเมื่อเดือนที่แล้ว โดยให้เหตุผลด้านสุขภาพแต่ไม่มีใบรับรองแพทย์ประกอบ ซึ่งบอร์ดมีมติให้ยื่นใบรับรองแพทย์ภายใน 7 วัน แต่จนถึงขณะนี้นายโสฬสก็ยังไม่ได้ส่งใบรับรองแพทย์แต่อย่างใด นอกจากนั้นก็จะเป็นการหารือถึงผลการตรวจสอบเบื้องต้นจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย

แหล่งข่าวจากเอสเอ็มอีแบงก์เปิดเผยว่า ธปท.ได้รายงานผลการตรวจสอบผลการดำเนินงานของธนาคารงวดสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2555 เบื้องต้นมาให้ฝ่ายบริหารจัดการรับทราบเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ทาง ธปท.ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ก่อนที่จะออกมาเป็นรายงานฉบับจริงเสนอต่อกระทรวงการคลังในฐานะกำกับดูแล โดยเบื้องต้น ธปท.รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2555 ว่าธนาคารมีผลขาดทุน 340 ล้านบาท โดยเป็นผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 122 ล้านบาท และตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 218 ล้านบาท นอกจากนั้น ธนาคารอาจมีภาระต้องกันสำรองเพิ่มกรณีถูกธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ฟ้องร้องอีก 3,113 ล้านบาทจากการยกเลิกสัญญาตราสารอนุพันธ์

นอกจากนั้น เงินกองทุนของธนาคารยังมีแนวโน้มต่ำลง โดยเพียงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 มีเงินกองทุน 5,234 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) 5.85% ต่ำกว่าเกณฑ์ ธปท.กำหนด 8.5% ซึ่งหากคำนึงถึงชั้นเชิงคุณภาพธนาคารจะต้องกันสำรองเพิ่ม 1,516 ล้านบาท จะทำให้เงินกองทุนคงเหลือ 3,718 ล้านบาท หรือบีไอเอส 4.16% เท่านั้น ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารในไตรมาสแรกทำได้เพียง 1,274 ล้านบาท หรือเพียง 10.62% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 16.13% ขณะที่เป้าหมายทั้งปีอยู่ที่ 13.97% เท่านั้น

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ธปท.ได้รายงานการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ประมาณ 5-6 รายที่อาจจะขัดกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของธนาคาร เช่น การปล่อยกู้ให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่กลับพบว่าบุคคลค้ำประกันการกู้ยืมถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือกรณีการปล่อยกู้ให้ลูกหนี้รายหนึ่ง 46 ล้านบาทเพื่อเป็นทุนหมุนเวียน แต่เบิกเงินกู้ได้เพียง 9 เดือนได้ขอกู้เพิ่มอีก 35 ล้านบาท โดยธนาคารแจ้งว่าเพื่อให้ลูกหนี้นำเงินกู้ใหม่ไปแก้ไขให้ตรงกับวัตถุประสงค์การกู้ยืม หรือกรณีการปล่อยกู้บริษัทสนามกอล์ฟเพื่อนำไปจัดทำ 21 หลุม แต่เมื่อเบิกเงินกู้ไปกลับเปลี่ยนแปลงเหลือเพียง 18 หลุม รวมถึงมีลูกหนี้ที่กู้เพื่อนำไปปรับปรุงโรงแรม แต่เบิกเงินกู้ไปเพียง 3 งวดจากทั้งหมด 5 งวด แต่กลับมาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ ซึ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความบกพร่องในการวิเคราะห์สินเชื่อของธนาคาร

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า คงต้องรอให้บอร์ด ธพว.พิจารณารายละเอียดก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะเป็นเพียงผลสอบเบื้องต้น แต่หากพบว่ามีกรณีเข้าข่ายผิดอาญาก็ต้องให้คณะกรรมการที่มี นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน สอบเพิ่มเติมได้ เพราะมีประเด็นที่น่ากังวลกรณีที่ลูกหนี้มีหลักทรัพย์ประกันไม่พอ ซึ่งตามปกติจะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำ แต่ปรากฏว่ามีรายการที่ทางเอสเอ็มอีแบงก์ค้ำประกันเองด้วย ทำให้ธนาคารเกิดความเสี่ยงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น