ผู้ผลิตรองเท้ารายเล็กอาการน่าเป็นห่วง ยอดซื้อในประเทศหด คู่ค้าต่างชาติหนีไปสั่งออเดอร์เฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ เร่งดันโครงการ “ดีไซเนอร์พบผู้ผลิต” ยกระดับคุณภาพช่วยขยายตลาด ขณะที่ยอดส่งออกอุตสาหกรรมรองเท้าถึงเดือน ส.ค.ยังติดลบ ตั้งเป้าทั้งปีฟื้นแตะ 1,800 ลบ.
นายครรชิต จันทนพรชัย นายกสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมรองเท้าไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ของสมาชิกที่มีกว่า 400 ราย ตั้งแต่ผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่จนถึงรายย่อย ยอดการส่งออกของปีนี้ (2555) นับถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมายังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (2554) ประมาณร้อยละ 10 ซึ่งเป็นผลมาจากภัยน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้กำลังการผลิตสูญเสียไป รวมถึงยอดสั่งซื้อจากต่างชาติทั้งกลุ่มยุโรป และสหรัฐอเมริกาต่างลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
สำหรับกลุ่มผู้ผลิตที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ผู้ผลิตรายเล็กๆ ซึ่งเน้นผลิตสินค้าราคาถูก ดีไซน์ตามแบบแบรนด์ดัง เวลานี้สูญเสียรายได้ทั้งจากการรับจ้างผลิตจากบริษัทต่างชาติ รวมถึงยอดขายในประเทศลดต่ำไปด้วยเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันผู้บริโภคจะหันมาเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เน้นความคุ้มค่าต่อการใช้งานมากกว่าซื้อตามแฟชั่นเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อจะช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว ทางสมาคมฯ เตรียมจัดโครงการ “ดีไซเนอร์พบผู้ผลิต” พานักออกแบบมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศมาช่วยเป็นที่ปรึกษาและพัฒนาสินค้าให้แก่ผู้ผลิตรายย่อย ให้มีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์และดีไซน์ของตัวเอง สามารถเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดได้มากยิ่งขึ้น
นายครรชิตเผยด้วยว่า ปีนี้ทางสมาคมฯ ตั้งเป้าว่ายอดส่งออกอุตสาหกรรมรองเท้าของไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีก่อน คือที่ประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เมื่อบริษัทรองเท้าแบรนด์เนมชั้นนำต่างประเทศทั้งจากสหรัฐฯ แคนาดา และยุโรป ได้มีการสั่งออเดอร์มายังผู้ผลิตไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยอดสั่งผลิตดังกล่าวแทบทั้งหมดมาในลักษณะว่าจ้างผลิต (OEM) และว่าจ้างเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ที่ผลิตสินค้าได้คุณภาพสูงเท่านั้น ขณะที่การส่งออกภายใต้แบรนด์สินค้าของไทยเองอยู่ในระดับต่ำมาก สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าเจาะตลาดบนยังสามารถขายได้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว