xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” โชว์ผลงาน 1 ปี แก้ของแพง-แบ่งเบาภาระค่าครองชีพ แม้ต้องเจอ 2 วิกฤตใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญทรง เตริยาภิรมย์
ถึงคิว “พาณิชย์” โชว์ผลงาน 1 ปี “บุญทรง” ฟุ้งผลงานเป็นรูปธรรม เห็นได้ชัดเจน ทั้งการลดภาระผู้ประสบอุทกภัย แก้ปัญหาของแพง แบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ปชช. และยกระดับรายได้ แม้ต้องเผชิญ 2 วิกฤตใหญ่ ทั้งน้ำท่วม และหนี้ยุโรป พร้อมยืนยัน “เงินเฟ้อ” ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการแถลงผลงาน 1 ปีกระทรวงพาณิชย์ โดยระบุว่าตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศเดือนสิงหาคม 2554 ได้ประสบภาวะวิกฤต 2 เรื่อง คือ ปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ และปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป โดยปัญหาน้ำท่วมทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมต้องหยุดดำเนินกิจการทำให้ขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการ จึงต้องดูแลค่าครองชีพของประชาชนช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม ให้จำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม เหมาะสมทำให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่ขาดแคลนได้ รวมถึงทำให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าราคาถูก โดยดำเนินโครงการธงฟ้า และโครงการร้านค้าถูกใจ โชวห่วยช่วยชาติ มีร้านค้าร่วมโครงการกว่า 10,000 ร้านค้า ทำให้ลดภาระของประชาชน อีกทั้งเข้าไปดูแลราคาอาหารให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมในการกำหนดราคาทำให้สินค้าราคาถูกลง ซึ่งมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2555 มีอัตราเปลี่ยนแปลงเพียงร้อยละ 2.9 ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งหมด ตลอดจนโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 2 ล้านครัวเรือน มีผลทำให้ราคาข้าวเปลือกยกระดับสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

นายบุญทรงกล่าวย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งให้เตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยกรมเจรจาการค้าต่างประเทศได้จัดอบรมทุกภาคส่วนของประเทศให้ประชาชนได้รับรู้ และเร่งเปิดเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปีนี้จะสามารถเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศชิลี อินเดีย และเปรู และสามารถเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและแคนาดา ซึ่งจะทำให้ภาคการเกษตรของไทยได้รับประโยชน์อย่างมาก นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับสินค้าผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ และผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่สากล ผลักดันการส่งออก และเริ่มต้นโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก เพื่อแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มสำหรับการส่งออก


กำลังโหลดความคิดเห็น