กรมส่งออกเดินหน้าเสริมแกร่งเอสเอ็มอีพร้อมลุยเออีซี ดันโครงการ “ต้นกล้าทูโกล” หนุนเชิงลึกครบวงจร แจงสำเร็จรุ่นแรกเป็นหัวหอกจำนวน 39 ราย เผยสานต่อเสริมแกร่งเอสเอ็มอีรุ่นต่อไปในพื้นที่ทั่วประเทศ
นางนันทวัลย์ สกุลตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเป็นประธานมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “ต้นกล้าทูโกล” จำนวน 39 บริษัทว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เอสเอ็มอีไทยภาคการส่งออกที่มีศักยภาพ โดยจะนำเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขีดความสามารถแบบเชิงลึก มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ การมีที่ปรึกษาประกบแนะนำแบบตัวต่อตัว พัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยผู้เชี่ยวชาญให้มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการส่งออก พาออกงานแฟร์ และเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าต่างประเทศ เดินทางไปดูงานทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อจะให้เอสเอ็มอีเหล่านี้มีความพร้อมที่สุดสำหรับการประกอบธุรกิจหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้จัดขึ้นเป็นรุ่นแรก เบื้องต้นเน้นไปยัง 3 กลุ่มสาขาธุรกิจที่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจำนวนมาก และส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ได้แก่ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจเครื่องดื่ม และธุรกิจหัตถกรรม ในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือตอนบน เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
“ปัจจุบันเอสเอ็มอีไทยมีการส่งออกไปตลาดอาเซียนมูลค่าปีละกว่า 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่มีความสำคัญต่อภาคส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของเอสเอ็มอีไทยจะเชี่ยวชาญเฉพาะภาคการผลิตแต่ด้อยเรื่องการตลาด และหลังเปิดเออีซีแล้วการแข่งขันย่อมสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น โครงการนี้ จะเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพทางการแข่งขันให้เอสเอ็มอีไทย รวมถึงอยากให้เอสเอ็มอีไทยได้ก้าวไปแข่งขันในตลาดเพื่อนบ้านด้วย” นางนันทวัลย์กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกเผยต่อว่า เอสเอ็มอีที่ผ่านโครงการนี้จะได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตลาด โดยในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจะได้รับสิทธิร่วมงาน ThaiFex 2012 ส่วนกลุ่มหัตถกรรมจะได้รับสิทธิออกงาน BIG&BIH เป็นต้น
นอกเหนือจากการพัฒนาตนเองแล้ว ยังมีแนวทางในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มเติม ได้แก่ การรวมตัวระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ด้วยกันเองเพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Cluster & Networking และการวางแผนสำรองเพื่อพร้อมรับความเสี่ยงต่างๆ อีกด้วย
การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจนั้นจะนำมาซึ่งการลดต้นทุนและสร้างอำนาจต่อรองในลักษณะของ Win-Win ทั้งต่อคู่ค้าและลูกค้า อีกทั้งการสร้างเครือข่ายดังกล่าวไม่จำเป็นที่จะต้องทำเฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน แต่สามารถขยายเครือข่ายไปยังผู้ประกอบการในสายโซ่อุปทาน หรือที่เรียกว่า Supply Chain ตัวอย่างเช่น การขยายเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการอาหาร-เครื่องดื่ม กับธุรกิจหัตถกรรม อาจทำให้ได้บรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากเดิมที่มีในท้องตลาด รวมถึงการรวมกลุ่มระหว่างผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งและลอจิสติกส์ต่างๆ
สำหรับการคัดเลือกเอสเอ็มอีที่จะเข้าโครงการนี้จะพิจารณาว่าเป็นรายที่มีศักยภาพ และมีความตั้งใจจริงที่ต้องการพัฒนาสินค้าหรือบริการของตัวเองให้มีศักยภาพสูงขึ้น โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นรุ่นแรก เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2554 และหลังจากนี้จะจัดต่อเนื่องในรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งขณะนี้ดำเนินการรุ่นที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดทางภาคอีสาน และภาคใต้ รวมถึงขยายสาขาธุรกิจไปยังกลุ่มแฟชั่นและสิ่งทออีกด้วย