xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.อบรมพ่อแม่ให้เป็นครู สอนลูกพิการที่บ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.จัดอบรมผู้ปกครอง 8,500 ครอบครัว ตามโครงการ “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” เพื่อให้ความรู้การจัดการศึกษาให้แก่เด็กพิการรุนแรง ให้ได้มีคุณภาพชีวิตเต็มศักยภาพตามสิทธิที่พึงมี
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (28 พ.ค.) ที่โรงแรมมารวย การ์เด้น นางฉวีวรรณ คลังแสง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือของเครือข่ายในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งมีผู้บริหารและบุคลากรของศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้ในการจัดการศึกษาแก่ผู้ปกครองที่มีเด็กพิการรุนแรงที่อยู่ตามบ้านไม่สามารถมาเรียนในโรงเรียนได้ จำนวน 8,500 ครอบครัว ให้ได้รับการดูแล สนับสนุน และช่วยเหลือเด็กพิการอย่างเต็มศักยภาพ ในโครงการ ปรับบ้านเป็นห้องเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 และจากแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550-2555 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า คนพิการจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเต็มศักยภาพมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่และเสมอภาค ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรคและจากเป้าประสงค์ และเพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและโอกาสในการพัฒนาตนเองในทุกมิติของสังคม สามารถเลือกรูปแบบการบริการที่เหมาะสมตามความพิการจำเป็นของแต่ละบุคคล และสามารถดำรงชีวิตอิสระ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว คนพิการ ครอบครัวคนพิการ ชุมชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ คนพิการทุกด้าน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ครอบครัวและชุมชนจึงถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ และมีความสำคัญในการจัดการศึกษาให้กับเด็กพิการ โดยจะต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ ในการคัดกรองเด็กที่บกพร่อง การให้คำปรึกษาในการเลี้ยงดู สามารถแนะแนวให้ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงดู และแนวทางในการศึกษาให้กับเด็กพิการ

นายชินภัทร กล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินงานโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู มาตั้งแต่ปี 2553 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยการขับเคลื่อนของศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศ ปัจจุบันมีเด็กพิการรุนแรงตามบ้านจำนวน 8,500 ครอบครัว เข้าร่วมในโครงการ และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริหารและบุคลากรการศึกษาพิเศษเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู และเพื่อพัฒนาความรู้สำหรับครอบครัวคนพิการเกี่ยวกับการทักษะการดูแลช่วยเหลือเด็กพิการรุนแรงตามบ้าน จึงได้เชิญผู้บริหารและบุคลากรการศึกษาพิเศษและผู้ปกครองเด็กพิการรุนแรงทั่วประเทศเข้าร่วม “ประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือของเครือข่ายในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและองค์ความรู้ใหม่” โดยมีเป้าหมายให้ผู้บริหารและบุคลากรได้รับการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและองค์ความรู้ใหม่ เกิดความร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน หน่วยงาน และองค์กรต่างในชุมชน รวมถึงสถานศึกษาในการพัฒนาเด็กพิการรุนแรงตามบ้าน โดยร่วมมือกันนำความรู้และจัดการศึกษาให้กับเด็กพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามศักยภาพของเด็กพิการ อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาเด็กพิการรุนแรงที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบโรงเรียนได้

“ครอบครัวและชุมชนถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ และมีความสำคัญในการจัดการศึกษาให้กับเด็กพิการ ซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ในทุกด้าน การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนจะส่งผลให้ พ่อแม่ได้ดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิดและถูกต้อง โครงการดังกล่าวจะมีการสรุปผลการดำเนินงานและแผนปฏิบัติการงบประมาณปี 2556 ในเดือนกันยายนปีนี้ ซึ่งในอนาคต สพฐ.คาดว่า จะมีการตั้งโครงการ 1 อำเภอ 1 ศูนย์ การเรียนเฉพาะความพิการและสู่ภาคประชาคมอาเซียน โดยประกาศเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนดังกล่าวต่อไป” นายชินภัทร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น