“หลวงพ่อครับ ที่หลวงพ่อเล่าว่า หมู่บ้านเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เท่าที่ผมทราบมานั้น พระองค์ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินมายังหมู่บ้านของเราเลยนี่ครับ”
“หมู่บ้านของเราชื่อว่าอะไรล่ะ?”
“หมู่บ้านภูมิสิริครับ”
“แปลว่าอะไร?”
“แปลว่าหมู่บ้านอันมีแผ่นดินที่เป็นศรี”
“ถูกต้อง หลวงตาโตหรือพระครูพิศาลญาณธรรม ท่านได้อัญเชิญพระนามในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มาเป็นมงคลนามของหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีขวัญและกำลังใจ ในการพัฒนาตนเองและหมู่บ้านที่ไร้ความเจริญ ให้เป็นหมู่บ้านที่เป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง
ตอนนั้นชื่อเก่าของหมู่บ้าน ใครได้ยินก็รังเกียจ คือบ้านดงเสือเป็นป่าทึบ สัญจรไปมาไม่สะดวก ทำให้พวกโจรชอบมาอาศัย และยังมีพวกผู้มีอิทธิพลเข้ามาลักลอบตัดต้นไม้
จนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ทำให้คนในหมู่บ้านหนีไปอยู่ที่อื่นเกือบหมด เหลืออยู่แต่คนที่รักแผ่นดินเกิด
พอหลวงตาโตผ่านมาที่นี่ ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่เป็นหลักชัย ท่านก็รับนิมนต์ แล้วประชุมชาวบ้านทั้งหมด สอบถามความคิดเห็นในการพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญ แล้วท่านก็เสนอเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านก่อน แล้วจึงค่อยกำหนดแนวทางการพัฒนาชาวบ้านก็เห็นชอบกับชื่อที่ท่านเสนอ จึงเป็นที่มาของหมู่บ้านภูมิสิริ ในปัจจุบัน”
“แล้วหลวงตาโตท่านทำอย่างไรเจ้าคะ จึงสามารถเปลี่ยนหมู่บ้านดงเสือ มาเป็นหมู่บ้านภูมิสิริ ที่พัฒนาจนได้รับชื่อเสียงมากมายในปัจจุบัน”
“ท่านก็ให้ชาวบ้านกำหนดกติกาเป็นจารีตของหมู่บ้านที่ทุกคนจะต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยมีข้อแม้ว่า กติกานั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไทยและหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
ชาวบ้านก็มีความคิดเห็นที่หลากหลาย หลวงตาโตท่านก็สรุปเป็นประเด็นๆ ให้ชี้แจงโต้แย้ง ทำความเข้าใจ จนในที่สุดสามารถได้กติกาหมู่บ้านขึ้นมา ๒ ข้อ คือ ทุกคนต้องมีความกตัญญูกตเวที และเมื่อมีงานสำคัญของหมู่บ้านเกิดขึ้น ก็ต้องพร้อมเพรียงกันทำให้สำเร็จ ซึ่งกติกานี้ก็ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน”
“กติกาแค่ ๒ ข้อ แต่พัฒนาจนเจริญได้ขนาดนี้ ไม่อยากจะเชื่อเลย”
“หลายคนก็บอกแบบนี้แหละ แต่มันก็เป็นไปแล้ว ข้อที่ว่าทุกคนต้องมีความกตัญญูกตเวที รู้ไหมว่าจารีตประเพณีของไทยล้วนตั้งอยู่ในหลักข้อนี้ทั้งสิ้น
คนที่สามารถมีคุณธรรมกตัญญูกตเวทีได้ ต้องเป็นคนที่มีความเคารพอย่างสูงในบุพการีชน ทำการใดๆ ก็ต้องตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา ว่าจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่บุพการีชนหรือไม่ เพียงเท่านี้ก็สามารถปกป้องหมู่บ้านให้ห่างไกลจากอบายมุขทั้งปวง การค้าขายที่ทุจริตก็ไม่มี
ความเคารพตามลำดับศักดิ์อายุจึงมีอยู่เสมอมา ทำให้รู้จักฐานะของตนเองในหมู่บ้าน ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอดเวลา งานไหนเป็นงานสาธารณประโยชน์ก็พร้อมเพรียงกันไปทำ งานไหนที่ตนสามารถช่วยได้ก็ไม่ทอดธุระ
ทำให้กติกาข้อที่ ๒ คือ เมื่อมีงานสำคัญของหมู่บ้านเกิดขึ้น ก็ต้องพร้อมเพรียงกันทำให้สำเร็จ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล”
“ผมเข้าใจแล้วครับ อย่างเวลามีงานที่เนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ หมู่บ้านเราจึงพร้อมเพรียงกันหยุดงาน มาวัดพุทธสยามภูมิสิริ เพื่อร่วมกันบำเพ็ญบุญกุศลในพระพุทธศาสนาตามประเพณี ตั้งแต่ตักบาตร ถวายภัตตาหาร ทำวัตร สวดมนต์ ฟังธรรม ถือศีล เจริญภาวนาตลอดคืน พัฒนาวัดตามกำลังความสามารถของตน
นี่ก็จะเป็นการบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และวันนี้เป็นมหามงคลกาลพิเศษ ด้วยเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๘๐ พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
แหม..วิสัยทัศน์ของหลวงตาโตกับชาวบ้านผู้ตั้งกติกานี่ยาวไกลจริงๆครับ”
“กติกาหมู่บ้าน ต้องศักดิ์สิทธิ์ ไม่อาจละเมิดได้ ใครจะมาอยู่ที่หมู่บ้านนี้ กรรมการหมู่บ้านจะแจ้งให้ทราบแล้วให้ไปคิดพิจารณาว่าจะทำได้ไหม ถ้าทำได้ก็อนุมัติให้อยู่ ถ้าทำไม่ได้ก็เชิญไปอยู่ที่อื่น จะมาถืออำนาจเหนือกติกาไม่ได้ เหตุนี้จึงทำให้หมู่บ้านภูมิสิริมีความเจริญในส่วนของศีลธรรมอยู่เสมอ”
“ตกลงหมู่บ้านเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง และพระราชินี ตอนไหนคะ ”
“เอ้า..ฟังต่อ..หลังจากประชุมได้กติกาหมู่บ้านแล้ว หลวงตาโตและกรรมการหมู่บ้านที่ได้คัดเลือกกันเอง ได้ทำการสำรวจอาชีพความถนัดของชาวบ้าน แล้วก็ให้ถ่ายทอดแก่กัน
ต่อมา หลวงตาโตท่านได้ปรึกษากับกรรมการหมู่บ้าน ว่าถ้ามีข่าวในหลวงเสด็จพระราชดำเนินมาใกล้ๆ กับหมู่บ้านเรา ท่านจะพากรรมการหมู่บ้านไปรับเสด็จฯ แล้วถือโอกาสศึกษา ดูงานในท้องที่นั้น เพื่อที่จะนำกลับมาพัฒนาหมู่บ้านเรา
มีใครจำพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ เมื่อคราเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ได้บ้าง ถ้าจำไม่ได้ เดี๋ยวหลวงตาจะอ่านให้ฟังนะ....
....แรกทีเดียวที่จะตั้งต้นศิลปาชีพเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๑๓ เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดนครพนม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมราษฎร และพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ไม่ทรงอิ่มพระทัยเลย รับสั่งว่าประชาชนเขายากจน แล้วยังมาประสบภัยพิบัติอีก ทรงรู้สึกว่าต้องช่วยให้เขามีโอกาสในชีวิต ช่วยให้เขามีทางทำมาหากิน ต้องพยายามหาต้นตอความทุกข์ยากของเขา เพราะส่วนใหญ่เขาเป็นชาวนา เขาผลิตข้าวให้แก่ประเทศทั้งประเทศ อีกทั้งข้าวก็ยังเป็นสินค้าหลักของชาติไทยเรา
ข้าพเจ้าก็พยายามคิดว่าจะทำอย่างไรดี ก็ได้เห็นชาวบ้านที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ โดยเฉพาะผู้หญิงใส่ผ้าซิ่นสวยงาม แม้จะดูเก่าคร่ำคร่า แต่ฝีมือที่ทอ แบบที่ทอละเอียดงดงามมาก เป็นศิลปะที่งดงามของพื้นบ้าน ข้าพเจ้าจึงมีความคิดขึ้นมาว่า ทำไมเราไม่ขอให้เขาทอผ้ามัดหมี่ลายต่างๆ ที่เขาใส่ ทำไมไม่ใช้ความงดงามของผ้ามัดหมี่ ที่ชาวบ้านใส่มานั่งเฝ้าอยู่กับพื้นให้เป็นประโยชน์
ข้าพเจ้าบอกเขาว่า ผ้าที่เขาใส่นี้สวยมาก ทอให้พระราชินีได้ไหม ชาวบ้านก็บอกว่าพระราชินีจะเอาไปทำอะไร เพราะว่าผ้าแบบนี้ที่คนเขาจะนุ่งจะห่มก็มีแต่คนยากจนเท่านั้น คนใช้ที่กรุงเทพฯ นั่นแหละเขาใส่กัน พระราชินีจะใส่ไปทำไม
ข้าพเจ้าก็ตอบไปว่า ถ้าทอให้ พระราชินีจะใส่ตลอด เขาก็ได้ตกลง มีการเข้าชื่อกันว่าใครบ้างจะรับอาสาทอผ้าไหมมัดหมี่ถวาย แบบที่เขาใส่กันลายแปลกๆ ข้าพเจ้าได้ให้เงินล่วงหน้าไว้กับคนที่จะทอให้ข้าพเจ้าทุกคน
สังเกตเห็นว่า แววตาเขาทั้งหลายมีความหวัง ว่าเขามีงานทำ เป็นงานที่เขาคุ้นเคยและถนัด บางคนก็ทอผ้าฝ้ายใช้ แต่ทอผ้าไหมไว้สำหรับใส่ไปทำบุญที่วัด ต่อมาเขาก็ทอให้ข้าพเจ้าเสมอ ข้าพเจ้าก็นำมาตัดเสื้อใส่ จากนั้นก็มีผู้อาสาทอผ้ามากขึ้น จึงได้โอกาสตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพขึ้น และชาวบ้านก็เริ่มทอผ้าส่งเข้ามามากมาย ที่ไหนที่มีความยากจนข้นแค้น ข้าพเจ้ามักสังเกตว่า เขาใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดเพื่อมาเฝ้าฯ...
นี่ก็เป็นที่มาของการทอผ้า เมื่อนำไปส่งโครงการศิลปาชีพของหมู่บ้านเรา หลวงตาโตและกรรมการหมู่บ้าน พยายามทุกวิถีทางที่จะให้เจ้าหน้าที่ของโครงการฯ ได้เห็นงานทอผ้าของบ้านเรา แล้วจะขอให้เขาแนะนำลายผ้าที่ทรงมีพระราชประสงค์ แล้วจะทอส่งมาร่วมโครงการฯ ซึ่งผ้าทอของหมู่บ้านเราก็ยังรักษาแนวการทอแบบเดิมตลอดมา ทำให้รายได้ของแม่บ้านมีเพิ่มมากขึ้น
ตอนหลังมานี้ก็ตั้งเป็นสหกรณ์หมู่บ้าน รับเงินกองทุนทุกอย่างที่รัฐบาลให้มา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านให้เป็นโอทอป ไปวางจำหน่ายทั่วประเทศ พวกเราก็เห็นแล้วว่า เยาวชนหนุ่มสาวในหมู่บ้านเรา ส่วนใหญ่จบการศึกษาแล้วก็มาช่วยพัฒนางานหมู่บ้านกันทุกคน”
“นี่แสดงว่าโครงการพระราชดำริอื่นๆ หลวงตาโตกับกรรมการหมู่บ้านยุคแรก ไปศึกษาเองทุกแห่งหรือครับ?”
“ใช่.. ยกเฉพาะในส่วนของสมเด็จพระนางเจ้าฯ นะ ก็มีโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่, โครงการพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต, โครงการป่ารักน้ำ, โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหาร,โครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เหล่านี้หมู่บ้านเรานำมาประยุกต์ให้เหมาะสม แล้วตั้งกรรมการบริหารโครงการตามแต่ถนัด ร่วมด้วยช่วยกัน
จากสภาพป่าเสื่อมโทรมครั้งเป็นหมู่บ้านดงเสือ จึงกลายมาเป็นสภาพป่าสมบูรณ์ มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีงานการทำมากมาย เป็นหมู่บ้านที่ยังอนุรักษ์จารีตประเพณีไทยไว้อย่างเหนียวแน่น
ที่สำคัญคือ หลวงตาโตและกรรมการหมู่บ้าน ได้นำพระราชดำรัสและพระราชเสาวนีย์มาประยุกต์เป็นโครงการของหมู่บ้าน ผลงานหนึ่งที่ต้องขอบอกไว้เลยว่า เป็นผลมาจากพระราชเสาวนีย์คือ การสอนวิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และประวัติศาสตร์ ของโรงเรียนภูมิสิริศาสตร์
หลวงตาโตบอกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ดังนั้น คำที่ทรงตรัส ย่อมเป็นคำสัตย์ เป็นคำที่นำมาซึ่งความเจริญ ควรที่จะนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับสภาพของหมู่บ้าน เพื่อจะได้พัฒนาให้เกิดความเจริญได้อย่างต่อเนื่อง
หลายปีหลังจากเป็นหมู่บ้านภูมิสิริ หลวงตาโตกับกรรมการหมู่บ้านได้ประชุมชาวบ้านทั้งหมด เพื่อลงประชามติที่จะยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ให้เป็นพ่อแก้วแม่แก้วของหมู่บ้านภูมิสิริ อันจะทำให้ทุกคนในหมู่บ้านได้ตระหนักถึงพระราชฐานะบุพการีของหมู่บ้าน ซึ่งประชามติครั้งนั้นก็เป็นเอกฉันท์
วันนี้เราจึงมาร่วมกันบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๘๐ พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระแม่แก้วของหมู่บ้านเรา”
หมายเหตุ : ชื่อพระ วัด หมู่บ้าน และโรงเรียนเป็นชื่อที่สมมติขึ้นมาเฉพาะในเรื่องนี้เท่านั้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 140 สิงหาคม 2555 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)