รมว.อุตฯ ชี้เอสเอ็มอีบริการไทยด้านสุขภาพ ไอที ท่องเที่ยว และขนส่งทางอากาศปรับตัวได้ดี ขณะที่บริการลอจิสติกส์ยังไม่พร้อมเข้าสู่ AEC หวั่นถูกรายใหญ่กลืนกิจการ แนะเร่งหาตลาดใหม่และสร้างมาตรฐาน เผยธุรกิจบริการเพื่อผู้สูงอายุแนวโน้มเติบโตสูง
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเสวนา “AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 3) ว่า อุตสาหกรรมในภาคบริการถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่งเพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับภาคผลิตสูง โดยอุตสาหกรรมนี้มีผู้ประกอบการกว่า 9 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นระดับเอสเอ็มอี มีการจ้างงานกว่า 4 ล้านคน ดังนั้น การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมภาคบริการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ตามกรอบการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอุตสาหกรรมบริการกำหนดให้ปรับเกณฑ์กำหนดการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ โดยในปี 2553 ได้ลดจากให้ถือครองไม่เกินร้อยละ 49 มาเป็นร้อยละ 70 และจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2558 จะไม่มีการกำหนดการถือครองของต่างชาติเลย ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันที่สูง ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมบริการของไทยเช่นกัน
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ระบุด้วยว่า ตามแผนเปิด AEC อุตสาหกรรมภาคบริการที่จะมีลดเกณฑ์นั้น ในกลุ่มบริการได้แก่ บริการสุขภาพ ไอที ท่องเที่ยว และขนส่งทางอากาศนั้นสำหรับเอสเอ็มอีไทยถือว่าปรับตัวไทยได้ดี อยู่แนวหน้าของอาเซียน แต่สำหรับอุตสาหกรรมบริการขนส่ง หรือลอจิสติกส์ยังมีจุดอ่อนเรื่องต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก อีกทั้งด้านมาตรฐานต่างๆ ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการพัฒนาธุรกิจเผยว่า เอสเอ็มอีกลุ่มลอจิสติกส์ของไทยมีการจดทะเบียนใหม่กว่า 18,000 ราย และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องกว่าร้อยละ 3.7-3.8 มูลค่าตลาดกว่า 4 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้มีทิศทางที่ดีมาก ทว่า หากเปิด AEC แล้วนักลงทุนต่างชาติหรือบริษัทรายใหญ่จะต้องเข้ามาแข่งขัน แย่งชิงตลาดแน่ รวมไปถึงมาซื้อกิจการของไทย ดังนั้นเอสเอ็มอีไทยควรต้องมองหาตลาดใหม่ที่บริษัทใหญ่ไม่สามารถหรือไม่อยากจะเข้าไปแย่งชิงตลาด เช่น การขนส่งในประเทศพม่า หรือ สปป.ลาว เป็นต้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกฎหมาย หรือระบบจัดการที่ดีมากนัก จึงเป็นโอกาสที่เอสเอ็มอีจะใช้ข้อได้เปรียบที่มีความคล่องตัวสูงสามารถเข้าไปเปิดตลาดได้ก่อน
นอกจากนั้น เอสเอ็มอีต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐาน และคุณภาพการขนส่ง เช่น รถขนส่งสินค้าควรมีระบบป้องกันสินค้าเสียหาย หรือสูญเสียระหว่างเดินทาง ซึ่งบริการที่ได้มาตรฐานจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถแข่งขันกับบริษัทใหญ่ได้
ในส่วนภาคอุตสาหกรรมบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง คาดว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจบริการเพื่อผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยในปี 2562 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มอีกร้อยละ 14 และเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นโอกาสที่ตลาดนี้จะเติบโตอย่างยิ่ง ทว่า อุตสาหกรรมบริการที่จะเข้ามาควรต้องให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานและคุณภาพ โดยเฉพาะรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งด้านอุปกรณ์ต่างๆ และสิ่งปลูกสร้างเพื่อผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ ขณะที่หากจะไปลงทุนในต่างประเทศควรศึกษารายละเอียดกฎหมายของแต่ละประเทศซึ่งแตกต่างกันไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยด้วยว่า สำหรับนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐจะมุ่งในด้านสร้างมาตรฐานการบริการ เช่น ดูแลเรื่องคุณภาพและรับรองมาตรฐาน อีกทั้งเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งทำให้ระบบลอจิกติกส์มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และต้นทุนลดลง รวมถึงทำแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทยสู่ AEC โดยแยกเป็นรายสาขาหลักๆ แบบเจาะลึก และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางภาษีต่างๆ ให้มากที่สุด