xs
xsm
sm
md
lg

เร่งแก้ กม.ขนส่ง ยกระดับคุณภาพขนส่งไทยปรับตัวรับ AEC ก่อนถูกเจาะตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” เร่งให้ความรู้ผู้ประกอบการ กระตุ้นปรับตัวรับเปิด AEC “ชัชชาติ” เผยเอกชนไทยเสียเปรียบเรื่องเงินทุนและคุณภาพบริการ หวั่นถูกเจาะตลาด เร่ง ขบ.แก้ พ.ร.บ.ยกระดับมาตรฐานขนส่งไทย และความสะดวกในการข้ามแดน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “เตรียมความพร้อมผู้บริหารด้านการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก รองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ว่า เป็นการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจและรายละเอียดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีอาเซียน (AEC) กับขนส่งจังหวัดทั่วประเทศเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อผู้ประกอบการไทยที่ยังเสียเปรียบในเรื่องเงินทุน คุณภาพบริการ ซึ่ง ขบ.จะต้องแก้ พ.ร.บ.เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพบริการให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ตามหลัก AEC ด้านการขนส่ง ในปี 2556 จะมีการเปิดเสรีในเรื่องสัดส่วนการลงทุนของผู้ประกอบการต่างชาติจาก 49% เป็น 70% ซึ่งจะทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้น หากผู้ประกอบการไทยไม่พร้อมจะถูกเจาะตลาดได้ ซึ่งทาง ขบ.จะต้องเร่งปรับ พ.ร.บ.ขนส่งที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าในช่วงแรกขนส่งข้ามแดนจะได้รับผลกระทบเนื่องจากจะมีผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ในขณะที่การวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของสินค้าและผู้โดยสารภายหลังเปิด AEC ค่อนข้างยากเนื่องจากมีหลายมิติ

นายชัชชาติกล่าวว่า ปัจจุบันกรอบความร่วมมืออาเซียนได้เปิดให้มีการเดินรถไป-กลับระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนโควตาประเทศละ 500 คัน ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังใช้โควตาไม่ครบ เนื่องจากเส้นทางที่กำหนด คือ East -West Corridor ตามแนวเส้นทางตะวันออก-ตะวันตก ถนน R9 จากจังหวัดตาก-พิษณุโลก มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ลาวบาว-ท่าเรือดานัง ไม่ได้รับความนิยม ซึ่งมีการเสนอขอปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถเป็นฮานอย-ท่าเรือแหลมฉบังแทน

AEC มีรายละเอียดและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาก ผู้ประกอบการไทยจะต้องมีความรู้เพื่อแข่งขัน ซึ่งสิ่งที่ต้องปรับ เช่น การพัฒนาคุณภาพการบริการ การปรับปรุงบุคลากรเรื่องภาษา ความเข้าใจด้านระเบียบและกฎหมายจราจรของประเทศต่างๆ ระบบการประกันภัย และการทำตลาดในประเทศอื่น ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการไทยหลายรายได้มีการปรับปรุงตัวเอง เช่น ติดระบบ GPS การอบรมพนักงาน เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าในภาพรวมผู้ประกอบการไทยยังเสียเปรียบ แต่ในแง่ผู้ใช้บริการจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นและมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงเพราะในตลาดมีการแข่งขันมากขึ้น”นายชัชชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขบ.ได้ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ ... และ พ.ร.บ.การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ในชั้นกรรมาธิการ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 6 เดือน และ พ.ร.บ.การรับขนคนโดยสารและสัมภาระระหว่างประเทศ พ.ศ.... อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา

นายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ขบ.ได้ดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการขนส่งทั่วประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมเปิด AEC มาอย่างต่อเนื่อง มีโครงการนำร่องติดตั้งระบบการรับรองมาตรฐานใน 15 จังหวัด และจะขยายไปอีก 15 จังหวัด ปัจจุบันมีการรับรองมาตรฐานให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกแล้ว 110 บริษัท ทั้งนี้จะมีการจัดตั้งองค์กรตรวจประเมินเพื่อให้เอกชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงานของภาครัฐ และเพื่อเป็นการพัฒนามาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งด้วยรถบรรทุกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น