คอลัมน์ ยักษ์เล็กขึ้นชก โดย กัณฑ์พัฒน วงศ์ศิริกุล เอสเอ็มอีธุรกิจเทียนแฟนซี แบรนด์ BECRAFTS
ขอขอบคุณ แฟนๆคอลัมน์ ที่ติดตาม และโทรเข้ามาปรึกษานะครับ ยินดีเสมอ
ระหว่างที่ติดตามคอลัมน์ผม ก็เริ่มมองหาสินค้าที่ตัวเองต้องการนะครับ ค่อยๆทำอย่าเร่งร้อน แต่ต้องกำหนดกรอบระยะเวลา ที่จะเริ่มลุยด้วย เดี๋ยวได้แต่หา ไม่ได้ลงมือซักที
นอกจากหาสินค้า แล้วก็เริ่มหาหนังสือเกี่ยวกับการธุรกิจ ประมาณ How to มาอ่านซึ่งมีอยู่มากมาย ซึ่งนำมาเป็นข้อมูลประกอบได้ แต่อย่าเชื่อทั้งหมดนะครับ เพราะขึ้นอยู่กับบุคลิกของผู้ประกอบการ สิ่งแวดล้อม เงื่อนไขที่ควบคุมไม่ได้ รวมถึงความสามารถในทางการเงิน ความสามารถทางการเงินนี้ ไม่ใช่เงินเยอะนะครับ แต่เป็นการรู้จักใช้เม็ดเงินให้ตรงจุดมากกว่า
เอาล่ะครับ มาดูวิชาการแบบง่ายๆดีกว่า ตามแบบฉบับของผมนะครับ ไม่ใช่แบบที่เรียนมา หรือแบบวิชาการในมหาวิทยาลัยนะครับ
P ตัวที่ 1 Product สินค้าผมแบ่งเป็นแบบ Hi end หรือ Mass คือ สังเกตดูว่าตัวคุณมีนิสัยแบบไหน หรือ ความสามารถแบบไหน ถ้าคุณมีหัวสร้างสรรค์ มีสังคมและชอบออกงานสังคม สินค้าประเภทออกแบบและสวยงามจะเหมาะกับคุณ แต่ถ้าคุณมีนิสัยเรียบๆ สบายๆ หาสินค้าง่ายๆ พบเห็นทั่วไป ขายจะทำให้โอกาสสำเร็จสูงกว่า
P ตัวที่ 2 Price แปลว่า ราคาแน่นอน แต่เราจะตั้งราคาแบบไหน คือตั้งสูงเวอร์ๆ จะได้รู้สึกว่าของน่าจะดี หรือ ตั้งราคาธรรมดาๆ จะได้ขายง่ายๆ และการตั้งราคาสินค้าก็ขึ้นกับประเภทสินค้าของคุณ คือถ้าออกแบบสร้างสรรค์ก็ตั้งราคาสูงได้ แต่ถ้าสินค้าคุณธรรมดาก็เอากำไรพอประมาณก็พอ แต่อย่ากังกวลว่าตั้งราคาต่ำๆ จะไม่มีกำไร เพราะยอดขายคุณอาจจะเข้ามาสม่ำเสมอ และกำไรรวมอาจจะสูงกว่าก็ได้
P ตัวที่ 3 Place สถานที่ขาย หรือประเทศที่จะขาย หากมองอย่างย่อยๆ สถานที่ขายก็ต้องดูรสนิยมของท้องถิ่นนั้นๆ ว่า ชอบของอะไร ก็เอาสิ่งนั้นไปขาย ตัวอย่างเช่น ส้มตำของไทย ถ้าตำที่ภาคอีสานจะรสชาติแบบนึง รสชาติภาคกลางก็แบบนึง ฉะนั้นวิธีดูรสนิยมนั้นหาง่ายๆ โดยคีย์เข้าไปในอินเตอร์เน็ตนั้นแหละครับ หาดูได้หมด แล้วเอามาประยุกต์ให้เข้ากับสินค้าของคุณ
แล้วต้องเอาประเทศที่จะไปขายเป็นตัวกำหนดก่อนนะครับ จะได้ไม่เสียเวลามากไป และข้อมูลกว้างเกินไป และอย่าลืมดูกฎหมายนำเข้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าของเรานะครับ และที่สำคัญภาษีนำเข้า จะทำให้รู้ว่าจะแข่งขันด้านราคาได้หรือเปล่า
สอบถามหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องทั้งกรมส่งเสริมการส่งออก และกรมศุลกากร ก่อนนะครับ เพื่อเวลาตั้งราคาจะได้บวกเงื่อนไขเหล่านี้เข้าไปในต้นทุน เดี๋ยวจะทำงานไปแล้วหากำไรไม่เจอ
P ตัวที่ 4 Promotion ของผมก็เหมือนหนุ่มจะจีบสาวแหละครับ คุณอยากจะได้ใจสาว จะต้องหมั่นเยี่ยม หมั่นเข้าหา หมั่นทักทายลูกค้า อีเมล์ไปหาแล้ว หากครั้งที่ 1 ไม่ตอบรับ ก็หาจังหวะใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ หรือ แพคกิ้งใหม่ เข้าไปเสนอเรื่อยๆ ไม่ใช่ติดต่อครั้งเดียวแล้วลูกค้าไม่ตอบหรือไม่โอเค ก็หยุดติดต่อ หรือติดต่อไป 2-3 ครั้งไปแล้วลูกค้าไม่ตอบสนองก็หยุด ซึ่งบางครั้งอาจจะสำเร็จในครั้งที่ 4 หรือ 5 หรือ 6 ก็เป็นไปได้ ของผมมีกรณีตัวอย่างอยู่รายหนึ่ง บริษัทใหญ่มาก ใช้เวลาตามงานถึง 3 ปีถึงได้ออร์เดอร์ แต่ได้แล้วก็อยู่กับเราตลอดไป สำคัญคือ ซื้อเยอะมากกก
แล้ว มาสู่ 5 M ภาษาทางการ คือ 1. Money 2. Men 3. Material 4. Method 5. Machine ซึ่งเดี๋ยวนี้ มี 6M แล้วสำหรับผมสนใจ M เดียว คือ MAN (บุคลากร)
เพราะบุคลากรที่ดี จะพาไปหาและบริหาร M ที่เหลือทั้งหมดได้ M ที่ดีจะรู้จักการใช้เงินที่มีจำกัดของธุรกิจที่เพิ่งเริ่ม M ที่ดีจะรู้วิธีหาวัตถุดิบและคัดเลือกของดีๆได้ M ที่ดีจะหากระบวนการทำให้การทำงานประหยัดได้
และ M สุดท้ายก็จะรู้จักหาคนมาช่วยงานได้ แบบจ่ายน้อยๆ ได้ผลงานเยอะๆ หรือไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเลย เช่น แฟน สามี ภรรยา พี่น้อง หรือลูกๆ แต่อย่ารีบร้อนให้แฟน หรือครอบครัวลาออกจากงานมาพร้อมกันเพื่อลุยนะครับ เผื่อแผนงานไม่เป็นไปตามคาด จะได้มีอีกคนมีรายได้เข้ามาช่วย
จินตนาการ เหนือความรู้
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@