เลขาฯ ก.ล.ต.เสริมเกราะ SMEs ก่อนเข้าสู่ AEC แนะรายเล็กต้องรวมตัวเป็นคลัสเตอร์ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน จับมือเข้าตลาดหุ้น ล่าสุด ก.ล.ต.เปิดตัวโครงการโฮลดิ้งคอมปานี ชวนรายย่อยเข้าตลาดหุ้น หวังวางไทยเป็น Hub Investment ด้าน ผศ.ดร.กฤษติกา ตัวแทนศศินทร์ ห่วง SMEs ขาดแหล่งทุน หวั่นกระทบแข่งชาติอาเซียน
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงานสัมมนา “โค้งสุดท้ายสู่ AEC Free Flow of Investment” โดยร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และนิตยสาร MBA ว่า การที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม เพราะการเข้าสู่ AEC นำมาซึ่งโอกาสสำหรับผู้ที่มีความพร้อม และเสียเปรียบของผู้ที่ไม่มีการเตรียมตัว เนื่องจากตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรรวมกันราว 3,000 ล้านคนซึ่งมากที่สุดในโลก โดยไทยเป็นประเทศที่อยู่ศูนย์กลาง และมีทะเลเชื่อมทั้ง 2 ฝั่ง คือ อ่าวไทยและอันดามัน จึงเหมาะต่อการเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมประเทศต่างๆ ทั้งในกลุ่ม AEC และนอก AEC ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดทุนถือว่าไทยก้าวเข้าสู่ปี 2558 จะมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนกันมหาศาล ทั้งการซื้อขายพันธบัตร การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และการลงทุนด้านธุรกิจ ในขณะที่แรงงานก็ต้องปรับตัว เพราะหากแรงงานขาดทักษะอาจจะโดนแรงงานต่างชาติช่วงชิงตำแหน่งงานได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยไม่สนใจการนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ดังนั้นทาง ก.ล.ต.จึงเปิดโครงการโฮลดิ้งคอมปานี เพื่อให้ธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจในกลุ่มเดียวกันต้องรวมตัวเป็นคลัสเตอร์เพื่อความแข็งแกร่งทางธุรกิจ สร้างความน่าเชื่อถือ และน่าสนใจในการลงทุนของต่างชาติ หลังเข้าสู่ตลาดหุ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้มีมติจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว เตรียมประกาศกฎเกณฑ์เร็วๆ นี้
ด้าน ผศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด สถาบันบริหารธุรกิจ ศศินทร์ กล่าวว่า ศศินทร์มีแผนการที่จะเตรียมพร้อมให้ประเทศไทยก้าวสู่ AEC ในปี 2558 โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเสรี และไทยจะเตรียมตัวอย่างไร โดยเฉพาะแหล่งเงินทุน งบการลงทุน เพื่อขยายโอกาสธุรกิจรับมือกับคู่แข่งจำนวนมาก ซึ่งก็พยายามศึกษาเรื่องนี้มาโดยตลอดเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักธุรกิจขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบหากไม่มีการเตรียมตัวที่ดี เช่น ความรู้ในเรื่องการเคลื่อนย้ายเสรีของเม็ดเงินลงทุนที่จะเข้ามามากขึ้นในอนาคต จากกฎหมายอนุญาตให้ต่างด้าวเข้าถือหุ้นในกิจการเพิ่มสัดส่วนเป็น 70% จากปัจจุบันต่างด้าวมีสิทธิถือหุ้นได้เพียง 41% เท่านั้น