"หอการค้าไทย" ชี้ส่งออกสินค้าไทยไปอาเซียนหดตัวแรง ต่ำสุดในอาเซียน ห่วง SMEs ไม่พร้อมรับ AEC สัดส่วนส่งออกอาจลดเหลือแค่ 7% ส่อตายหมู่ ระบุทิศทางธุรกิจสิ่งทอ อาหารทะเลแปรรูป อาการน่าเป็นห่วง
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยบทวิเคราะห์ “ประเมิน 2 ปี ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” ว่า สินค้าส่งออกของไทย 18 รายการ ไปยังอาเซียนในปี 2554 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 7,506.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 18.7% จากปี 2553 ที่มีมูลค่า 10,253.7 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่า เป็นอัตราลดลงมากที่สุดในอาเซียน ซึ่งเป็นผลกระทบจากอุทกภัยที่ผ่านมา ส่วนประเทศที่มีอัตราขยายตัวการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ บรูไน กัมพูชา เวียดนาม และพม่า
ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของไทยในปี 2554 อยู่ที่ 18% เพิ่มขึ้นเพียง 0.13% จากปี 2553 ที่ 17.9% หรือมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน โดยประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 คือ สิงคโปร์ 0.96% รองลงมา อินโดนีเซีย 0.52% และฟิลิปปินส์ 0.14%
สำหรับมูลค่าการส่งออกส่วนใหญ่ 80% มาจากผู้ส่งออกรายใหญ่ ขณะที่เป็นมูลการส่งออกจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) มีสัดส่วนเพียง 20% และคาดว่าหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะทำให้มูลค่าการส่งออกของเอสเอ็มอีไทยไปยังอาเซียนลดลงไปอีกเหลือเพียง 7% เท่านั้น ขณะที่ศักยภาพทางการค้าของไทยในอาเซียนอยู่ในระดับตกต่ำ เพราะต้นทุนค่าแรง ราคาวัตถุดิบ และต้นทุนการบริหารจัดการสูงขึ้น จนทำให้อัตราการขยายตัวและส่วนแบ่งทางการตลาดส่งออกต่ำลง หากปล่อยไว้อาจจะเกิดการย้ายฐานการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ส่วน SMEs จะแข่งขันได้ลำบากมากยิ่งขึ้น และอาจปิดกิจการจำนวนมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอตามห้องแถว จึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน
ส่วนธุรกิจที่มีแนวโน้มน่าเป็นห่วงหลังปี 2558 จะเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ซึ่งจะย้ายฐานการลงทุนไปพม่า กัมพูชา และเวียดนาม เพราะประเทศเหล่านั้นได้เปรียบในเรื่องค่าแรงและมีวัตถุดิบมาก ไม่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังถูกประเทศเพื่อนบ้านไล่หลัง เช่น อุตสาหกรรมผักและผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องหนัง เครื่องดื่มและยาสูบ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงข้าวสาร ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 6.9% ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและถ่านหิน ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ เป็นต้น