xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงแรงงานขาดแคลนเร่งตั้ง “ธนาคารแรงงาน” เป็นฐานข้อมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เผดิมชัย” ห่วงสถานการณ์แรงงานเข้าสู่ภาวะขาดแคลนหลังพ้นวิกฤตน้ำท่วม เร่งตั้งธนาคารแรงงานเป็นฐานข้อมูลจับคู่แรงงานกับตำแหน่งงานว่าง ขณะที่ค่าจ้าง 300 บ.จ่อบังคับใช้ เอสเอ็มอีหันพึ่งเครื่องจักรแทนกำลังคน ด้าน กสร.ส่งทีมลงพื้นที่เดือน มี.ค.ทำความเข้าใจพร้อมรับฟังปัญหาก่อนค่าจ้างปรับใหม่เริ่มใช้

วันนี้ (14 ก.พ.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยหลังพ้นวิกฤตน้ำท่วมว่า การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทุกวันนี้เกิดจากการไม่เข้าคู่ของทักษะฝีมือ เนื่องจากตลาดขาดแคลนแรงงานฝีมือและประสบการณ์ โดยเฉพาะแรงงานช่างระดับอาชีวะ ในขณะที่แรงงานจบใหม่ส่วนใหญ่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เพราะเห็นว่าค่าตอบแทนสูงถึงเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งต้องมองทิศทางการบูรณาการหรือประสานความร่วมมือระหว่างความต้องการตลาดแรงงานกับภาคการศึกษาที่ผลิตแรงงานออกสู่ตลาดแรงงานด้วย

“ขณะนี้สถานการณ์เริ่มที่จะสะท้อนให้เห็นว่าเริ่มมีการขาดแคลนแรงงานบ้างแล้ว และในอนาคตที่ประชากรเกิดน้อยลงก็จะยิ่งประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมาป้อนตลาดแรงงานสูงขึ้น ก็ต้องมาดูว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร เราก็ต้องเติมเต็ม แม้จะมีผู้ตกงานอยู่บ้าง แต่จากการจัดนัดพบแรงงาน จัดคาราวานออกพบปะระหว่างผู้ประกอบการ นายจ้าง กับแรงงานโดยตรง รวมถึงมาตรการของกระทรวงแรงงาน เช่นโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อชะลอการเลิกจ้าง ช่วยให้ผู้ประกอบการและแรงงานได้มีโอกาสพบกันมากขึ้น ผู้สมัครงานหลายหมื่นคน รวมทั้งมีการสำรวจด้วยว่านายจ้างมีความต้องการแรงงานเน้นไปที่ทักษะฝีมือด้านใด” รมว.แรงงานกล่าว

นายเผดิมชัยกล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานได้จัดทำธนาคารแรงงาน ขึ้นมาเพื่อเป็นข้อมูลจัดเก็บว่ามีแรงงานจำนวนเท่าไร นายจ้างต้องการแรงงานในกลุ่มลักษณะใด ปริมาณเท่าใด เพื่อให้สามารถจับคู่ความต้องการได้ตรงความต้องการของสองฝ่าย และต้องดูว่าแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศจำนวนนับแสนและกลับมาไทยแล้ว ขณะนี้อยู่ที่ใด เราต้องมีในข้อมูลธนาคารแรงงาน เพราะเป็นกลุ่มแรงงานที่แม้จะมีอายุบ้างแต่ก็มีทักษะฝีมือ ประสบการณ์ที่จะมาเติมเต็มให้กับภาวะขาดแคลนแรงงานได้อีกส่วนหนึ่ง

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวถึงผลสำรวจเอแบคโพล์ลของผู้ประกอบการที่จะนำเครื่องจักรมาใช้แทนกำลังคน เนื่องจากการปรับค่าจ้าง 300 บาทว่า การปรับค่าจ้างไม่ได้มีผลกระทบต่อการนำเครื่องจักมาใช้แทนกำลังคน แต่สาเหตุที่นักลงทุนหรือ ผู้ประกอบการเริ่มปรับนำเครื่องจักรมาใช้ เพราะต้องการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงแรงงานก็ได้มีการส่งเสริมอยู่แล้ว

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลว่าจะมีการจ้างงานน้อยลงหรือคนว่างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันตำแหน่งงานมีมากกว่าจำนวนคนที่ต้องการทำงาน โดยมีกระบวนการแก้ปัญหาใน 2 แนวทาง คือ การเพิ่มคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยการนำผู้ว่างงาน คนพิการ มาเพิ่มทักษะ รวมไปถึงผู้ที่เกษียณอายุแต่ยังมีศักยภาพให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน และแนวคิดการเพิ่มศักยภาพแรงงานเดิมให้สามารถทำงานได้ในปริมาณ และคุณภาพที่มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดการสูญเสีย ซึ่งใช้เวลาทำงานที่เท่าเดิม

ปลัดแรงงานกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานดูแลเรื่องการปรับค่าจ้าง 300 บาท โดยมีนายพานิช จิตต์แจ้ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน และมีรองอธิบดีทุกกรมเป็นคณะทำงาน ในการดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งกับผู้ประกอบการ และลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างสูงกว่า 300 บาทไม่มาก เนื่องจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับถึงร้อยละ 40 สูงสุดในประวัติการ ซึ่งหากจะปรับค่าจ้างทั้งระบบต้องมีแนวคิดการปรับค่าจ้างที่ดี
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการหลายคน ถึงนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท รวมไปถึงแนวโน้มการนำเครื่องจักรมาใช้แทนกำลังคน พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้ใช้แรงงานมีศักยภาพเพิ่มขึ้น สามารถทำงานได้คุ้มค่ากับการปรับค่าจ้างที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายนนี้ ส่วนการนำเครื่องจักรมาใช้งานเป็นการลงทุนระยะยาว การพัฒนาคนงานจะเกิดความคุ้มค่ากว่า ทั้งนี้มองว่าการปรับค่าจ้างจะทำให้ผู้ประกอบการมีความเข้มงวดในการทำผลิตชิ้นงานมากขึ้น และจะเป็นการกระตุ้นให้พนักงานกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการยกระดับระบบเศรษฐกิจของไทยให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะมีการนำเครื่องจักรมาใช้งาน สาเหตุจะเป็นเพราะการขาดแคลนของงานมากกว่า ซึ่งจะมีการใช้เครื่องจักรทำงานในบางประเภทแต่คนก็ต้องเป็นผู้ควบคุมการทำงานเช่นเดิม แต่ในลักษณะงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน หรือ ชิ้นงานที่มีขนาดเล็ก ก็ต้องใช้กำลังคนทำ เพราะเครื่องจักรไม่สามารถลงรายละเอียดได้มากนัก

อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า ในเรื่องการปรับค่าจ้าง กสร.ต้องเข้าไปทำความเข้าใจไม่ให้มีการเลิกจ้างคนงาน โดยชี้ให้เห็นถึงผลดีและผลเสียที่หากปรับลดคนงานลงแต่ไม่มีการพัฒนาการผลิตชิ้นงานก็ไม่ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น แต่หากเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมงผลิตงานไดมากขึ้น เทียบเท่ากับการทำงานล่วงเวลา การปรับค่าจ้างก็ถือว่ามีความคุ้มค่า

นายอาทิตย์กล่าวถึงการทำความเข้าใจผู้ประกอบการขนาดกลางหรือขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ในเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำว่า ในกลุ่มนี้ยังให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบไม่ครบถ้วน แต่ก็ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ กสร.เตรียมลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการ โดยเชิญรับฟังการชี้แจงเป็นกลุ่มอาชีพ ขณะเดียวกันยังจะได้รับทราบปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้กระทรวงแรงงานรู้ทิศทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ทั้งนี้ การชี้แจงกับผู้ประกอบการจะเริ่มในเดือนมีนาคมนี้ก่อนที่จะมีการบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2555 นอกจากนี้ยังจะเป็นการแสดงให้ผู้ประกอบการได้มั่นใจว่ากระทรวงแรงงานไม่เคยทอดทิ้ง ซึ่งสาเหตุที่เลือกชี้แจงในช่วงเดือนมีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กำลังเตรียมวางแผนการลงทุนของปีต่อๆไป

“สิ่งที่น่ากังวลหลังการปรับค่าจ้างคือกลุ่มที่มีเงินเดือนสูงกว่า 300 บาทแต่มีจำนวนไม่มากนัก และทำงานมานาน เกรงจะเกิดปัญหา และผลกระทบทางจิตใจหากไม่มีการขยับค่าจ้างให้กลุ่มนี้ด้วย แต่การปรับต้องเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบทั้งระบบ เพราะถ้าผู้ประกอบการรับไม่ไหวลูกจ้างอาจเสี่ยงตกงานได้ ทั้งนี้ หลังจาก 1 เมษายนเป็นต้นไป งานหนักจะตกอยู่ที่พนักงานตรวจแรงงาน ในการตรวจสอบการจ่ายค่าจ้าง หากตรวจพบว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการเตือนนายจ้างให้ปฏิบัติตามภายใน 30 วัน หากยังฝ่าฝืนอยู่พนักงานตรวจแรงงานก็จะออกคำสั่งให้จ่ายอีก 30 วัน แต่หากยังฝ่าฝืนอยู่ก็จะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย” อธิบดี กสร.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น