xs
xsm
sm
md
lg

เร่งผลักดันลดค่าภาษีแรงงานไทยในมาเลย์หลังพบขาดแคลน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนง.แรงงานไทย ในมาเลย์เร่งผลักดันลดค่าภาษีให้แรงงานไทย เหตุภาษีอนุญาตทำงานสูงเกือบ 2 หมื่นบ.หลังพบปัญหาขาดแคลนแรงงานของร้านอาหารไทยในมาเลย์ ทั้งตำแหน่ง พนง.เสิร์ฟ-ล้างจาน ชี้ ภาษีต้องเท่ากับแรงงานไร้ฝีมือ

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานแรงงานไทยในประเทศมาเลเซีย ได้รายงานสถานการณ์การมีงานทำของแรงงานไทยในประเทศมาเลเซีย ว่า อัตราค่าภาษีแรงงานไร้ฝีมือในตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟ-พนักงานล้างจาน ที่เงินเดือนไม่สูงนักแต่กลับมีค่าภาษีจากการขอใบอนุญาตทำงานสูงมาก ซึ่งจะต้องเร่งติดตามความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อประโยชน์ของแรงงานไทยต่อไป

จากการที่สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย ได้ออกตรวจเยี่ยมสถานการณ์แรงงานไทยในเมืองเซเรมบัน รัฐเนกรีเซมบิลัน ซึ่งนอกจากจะเป็นเมืองนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ยังพบว่า มีสถานประกอบกิจการร้านอาหารไทยที่มีคนไทยเป็นเจ้าของอยู่หลายแห่ง บางแห่งก็มีขนาดใหญ่ ลูกค้าจำนวนมาก มีหลายสาขา เป็นต้น แต่กลับประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน แม้ว่าจะมีแรงงานจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เดินทางไปทำงาน แต่ก็มักเป็นแรงงานอายุน้อย ขาดประสบการณ์ ความรับผิดชอบ นายจ้างจึงไม่ทำใบอนุญาตทำงานให้ ส่วนแรงงานท้องถิ่นยังต้องการการพัฒนาด้านการบริการ และมีข้อจำกัดไม่ทำงานในวันหยุดซึ่งเป็นวันที่มีลูกค้ามาก

สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย ยังแจ้งด้วยว่า ส่วนใหญ่ร้านอาหารไทยจะเป็นประเภทร้านต้มยำ ที่ประสบปัญหาเสียค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตทำงานให้กับลูกจ้างเป็นค่าภาษีหรือ เลวี (levy) ในอัตราที่สูงมาก คือ คนละ 1,850 ริงกิต (ประมาณ 18,500 บาท) ซึ่งถ้าเป็นแรงงานตำแหน่งผู้ประกอบอาหาร หรือ กุ๊ก ซึ่งเป็นแรงงานฝีมือจะสามารถจ่ายเองได้ เพราะมีอัตราค่าจ้างค่อนข้างสูง แต่แรงงานในตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟและพนักงานล้างจาน ซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือ มีอัตราค่าจ้าง 600-700 ริงกิต (ประมาณ 6,000-7,000 บาท) ไม่สามารถจ่ายได้ หากรัฐบาลไทยสามารถเจรจากับรัฐบาลมาเลเซียให้อนุญาตแรงงานไทยทำงานในตำแหน่งพนักงานเสิร์ฟและล้างจานโดยกำหนดอัตราภาษีเดียวกับแรงงานไร้ฝีมือในสาขาอื่นๆ ก็จะทำให้นายจ้างสามารถเสียภาษีและจัดทำใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายได้ และทางสำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซียได้เคยเสนอประเด็นการปรับอัตราค่าเลวีให้พนักงานตำแหน่งเสิร์ฟและล้างจานในที่ประชุมคณะทำงานร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Working Group : JWG) ว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งจะได้ติดตามเรื่องนี้ในการประชุมคราวหน้าที่มาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพต่อไป

ในส่วนของสถานประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารประเภทสัตว์ปีก สัตว์น้ำ ของนักลงทุนไทย พบว่า มีกระบวนการผลิตครบวงจร ทั้งการเพาะพันธุ์ เลี้ยงดู การแปรรูปผลิตเป็นอาหาร การบริหารจัดการเพื่อการส่งออกทั่วโลกตามกระบวนการผลิตมาตรฐานอาหารฮาลาล โดยมีการจ้างแรงงานไทยเพื่อปฏิบัติงานด้านวิชาการ การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และตำแหน่งหัวหน้าไซต์งานต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการจ้างงานแรงงานจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เพราะศักยภาพแรงงานไทยมีสูง ในขณะที่มีความขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอาชีพ เนื่องจากอาชีพรับจ้างกรีดยางพารากำลังได้รับความนิยม เพราะมีรายได้สูงกว่าอาชีพอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น