xs
xsm
sm
md
lg

โรงเบียร์ตะวันแดงเปิดศึกอาหารไทย ปั้น”เรดซัน”ลุย-ซุ่มค้าปลีกเครื่องดื่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – “โรงเบียร์ตะวันแดง” สยายปีก ผุดบริษัทลูกลุยธุรกิจร้านอาหารไทยโมเดิร์น ปั้น “เรดซันบายตะวันแดง” บุกตลาด เป้า 4 ปี มี 10 สาขา หวังดันให้เป็นเชนร้านอาหารไทยบนศูนย์การค้าสู้เชนร้านอาหารญี่ปุ้น ชาบู ปิ้งย่าง หวังต่อยอดเครื่องดื่มในร้านขายตลาดค้าปลีก

นายสุพจน์ ธีระวัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงเบียร์ตะวันแดง จำกัด ผู้บริหารโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เปิดเผยว่า นโยบายของกลุ่มตะวันแดง จะรุกธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุดได้จัดตั้งบริษัท เรดซันตะวันแดง จำกัด ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ถือหุ้นโดยกลุ่มผู้บริหารเดิมของโรงเบียร์ฯ เพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยมีดีไซน์และครีเอทีฟภายใต้ชื่อ เรด ซัน บาย ตะวันแดง มีเบียร์ตะวันแดงจำหน่ายแต่ไม่ใช่รูปแบบโรงเบียร์
สำหรับแผนธุรกิจของร้านอาหาร เรดซันบายตะวันแดง ตั้งเป้าหมายเปิดได้ 10 สาขาในช่วง 3 – 4 ปีจากนี้ เน้นทำเลตั้งอยู่ในศูนย์การค้า พื้นที่เฉลี่ย 150-400 ตารางเมตร ลงทุนเฉลี่ย 7-10 ล้านบาทต่อสาขาและจะผลักดันให้เป็นร้านอาหารไทยที่เป็นเชนในศูนย์การค้าให้ได้ เพราะปัจจุบันนี้มีแต่เชนร้านอาหารญี่ปุ่น อาหารเกาหลี สเต๊ก สุกี้ ชาบู เป็นต้น แทบจะไม่มีเชนร้านอาหารไทยเลย
โดยสาขาแรกลงทุน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ชั้น 7 ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สัญญาเช่า 3 ปีต่อ 3ปี พื้นที่กว่า 400 ตารางเมตร รองรับได้ 120 ที่นั่ง มีการปรับเปลี่ยนบริการและเมนูอาหารไปเรื่อยๆ จากปัจจุบันมี 60 รายการ บางเมนูก็เป็นแบบเดียวกับที่โรงเบียร์ ราคาเฉลี่ย 90-400 บาท เปิดให้บริการไม่เป็นทางการมาแล้ว 2-3 สัปดาห์ มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติประมาณ 30-40% และในประเทศ 60-70% มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่อวันที่ประมาณ  100 คนต่อวัน  และถ้าถึง 250 คนเมื่อไหร่ธุรกิจนี้ก็น่าจะไปได้  คาดว่าจะคืนทุนใน 2 ปี คาดหวังรายได้สาขานี้ 25-30 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้5 -10% จากรายได้รวมของทั้งกลุ่ม
“เรายังมีการพัฒนาเมนูเครื่องดื่มใหม่ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ไว้บริการในร้าน และหากได้รับการตอบรับดี อนาคตอาจจะมีการต่อยอดผลิตออกมาจำหน่ายในรูปแบบค้าปลีกก็ได้ ซึ่งเรดซันบายตะวันแดงสาขาแรกนี้ เราคงจะทำตลาดประมาณ 1 ปีก็คงจะรู้ทิศทางแล้วว่าจะไปอย่างไร ซึ่งช่วงแรกคงลงทุนเองก่อน เพราะเราไม่ถนัดเรื่องการขายแฟรนไชส์ แต่ถ้ามีโอกาสโมเดลการร่วมทุนหรือแฟรนไชส์ก็อาจจะเป็นไปได ”
สำหรับธุรกิจโรงเบียร์นั้น ยังมีแผนขยายสาขาต่อเนื่อง แต่ต้องขึ้นอยู่กับการได้พื้นที่และทำเลที่เหมาะสมด้วย เนื่องจากว่า ต้องใช้พื้นที่มาก มีเจ้าของที่ดินเสนอมาหลายแห่งแต่ไม่สามารถสรุปเงื่อนไขได้ ปัจจุบันมี 2 สาขาในไทยคือที่พระรามสาม ทำมา 12 ปี แล้ว และสาขาสองที่ถนนเลียบทางด่วนรามอินทราเปิดมา 6 ปีแล้ว คืนทุนแด้ว ส่วนตลาตต่างประเทศมี 2 สาขาที่สิงคโปร์ รายได้ไปได้ดี ขณะที่แผนขยายในต่างประเทศนั้นมีหลายประเทศสนใจติดต่อมา แต่ยังไม่สามารถสรุป เช่นเวีนดนาม ฮ่องกง จีน เป็นต้น
“การลงทุนทำโรงเบียร์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้พื่นที่มาก เงินทุนสูง ข้อกฎหมายมากมาย และต้องมีความชำนายด้วยทั้งเรือ่งคน เรือ่งระบบ เรื่องเบียร์ มีหลายแห่งที่ทำมาแล้วก็เลิกไปจำนวนมาก” นายสุพจน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น