xs
xsm
sm
md
lg

‘Casper’ เบอร์เกอร์สีดำ มิกซ์เมนูลุงแซมสอดไส้โคขุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาหารยอดฮิตของชาวอเมริกัน อย่าง “เบอร์เกอร์” ถูกนำมาประยุกต์ให้มีสีสัน และหน้าตา แปลกไปจากต้นตำรับ ด้วยการสร้างสรรค์ให้ขนมปังเป็นสีดำ มาพร้อมไส้ที่ดัดแปลงทำจากเนื้อโคขุน ภายใต้แบรนด์ “Casper burger” ช่วยกระตุกความสนใจของลูกค้าเป้าหมายกลุ่มวัยรุ่น แถมยังช่วยฉีกหนีสินค้ากลุ่มเดียวกันในตลาด
 สายสิริ ศิวะสกุล
สายสิริ ศิวะสกุล ผู้จัดการแฟรนไชส์ “Casper burger” เล่าว่า ต้นคิดของเบอร์เกอร์สีดำมาจาก “ภัทรา สหวัฒน์” เจ้าของธุรกิจ “แมนชั่น 7” สถานที่ท่องเที่ยวแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องราวความสยองขวัญ ซึ่งภายในพยายามจะรวบรวมสินค้า บริการหรือร้านอาหาร ที่มีไอเดียสอดคล้องเข้ากันได้ดีกับสถานที่
เบอร์เกอร์สีดำ ไส้เนื้อโคขุน
“แนวคิดแรกของคุณก้อย (ชื่อเล่นของภัทรา สหวัฒน์) อยากจะนำเนื้อโคขุน ซึ่งเป็นเนื้อชั้นดีและกำลังได้รับความนิยม มาประยุกต์ทำเป็นเมนูแปลกใหม่ ที่ในท้องตลาดยังไม่มีมาก่อน จึงนึกถึงการทำเป็นเนื้อสำหรับใส่ในเบอร์เกอร์ เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งเมนูยอดฮิตของวัยรุ่นไทย ขณะเดียวกัน วัยรุ่นยังเป็นลูกค้าหลักที่เข้ามาใช้บริการในแมนชั่น 7” สายสิริ อธิบาย และเสริมต่อว่า

“เพื่อจะให้เป็นเบอร์เกอร์ที่มีคอนเส็ปต์สอดคล้องกับสถานที่ด้วย คุณก้อยได้ออกไอเดียอีกว่า ควรจะทำขนมปังเป็นสีดำ โดยใช้วิธีนำ “ดีปลาหมึก” ผสมเข้ากับแป้งขนมปัง นอกจากจะทำให้ได้ขนมปังสีดำแล้ว ดีปลาหมึกยังมีส่วนช่วยให้ขนมปังมีรสหวานหอมยิ่งขึ้น โดยจะทำขนมปังแบบโฮมเมด ชิ้นต่อชิ้น เพื่อให้ได้เนื้อขนมปังนุ่มเนียน ซึ่งสูตร และวิธีทำทั้งหมด ทีมงานของเราช่วยกันพัฒนาขึ้นเอง” ผู้บริหารร้าน อธิบาย
จัดเป็นชุด
@@@ ชูวัตถุดิบคุณภาพ ลบภาพอาหารขยะ @@@

อีกจุดเด่นของ “Casper burger” คือ พยายามพัฒนาอาหารจานด่วนแบบตะวันตกที่คนจำนวนไม่น้อย ระบุว่าคุณประโยชน์ต่ำ ด้วยการปรับสูตรให้เป็นเมนูใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยคัดสรรใช้วัตถุดิบเกรดเอทั้งหมด มีทั้งนำเข้าและในประเทศ ส่วนเนื้อที่ใช้ นอกจากโคขุนแล้ว ยังมีเนื้อหมูดำคูโรบูตะ อีกทั้ง เบอร์เกอร์แต่ละชิ้นจะใส่ผักมากกว่าแบบต้นตำรับ ทอดในน้ำมันใหม่สะอาด เป็นต้น
แต่งร้านสไตล์อเมริกันคลาสสิก
ร้าน “Casper burger” เริ่มเปิดบริการตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 ในแมนชั่น 7 ถนนรัชดาภิเษก ตกแต่งร้านเน้นสไตล์อเมริกาย้อนยุคช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเมนูอาหารประมาณ 20 รายการ เช่น เบอร์เกอร์ดำโคขุน เบอร์เกอร์ดำหมูดำ ชิกเก้นนักเก็ต มันฝรั่งทอดชีส และเฟรนช์ฟราย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีบริการเครื่องดื่ม ทั้งน้ำหวาน กาแฟ และขนมหวานอย่างวอลเฟิล และไอศกรีม เป็นต้น

ส่วนระดับราคา กำหนดที่ระดับกลางบน เช่น เบอร์เกอร์ชิ้นละ 67-97 บาท ยอดขายโดยเฉลี่ยเฉพาะส่วนของเบอร์เกอร์ ประมาณ 100 ชิ้นต่อวัน กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ คือ วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนคนวัยทำงาน

@@@ เปิดโอกาสขยายสาขาแฟรนไชส์ @@@

สายสิริ เผยด้วยว่า แผนธุรกิจในปีนี้ (2555) จะมีการเพิ่มเติมเมนูให้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มไก่ทอดต่างๆ อีกทั้ง เตรียมจะขยายสาขา ทั้งด้วยตัวเอง ควบคู่กับเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาเป็นหุ้นส่วนแฟรนไชส์

สำหรับรูปแบบการลงทุนแฟรนไชส์ มี 2 ลักษณะ คือ 1.แบบร้าน เนื้อที่ 70-120 ตารางวา มูลค่าการตกแต่งและอุปกรณ์ 1-3 ล้านบาท (แล้วแต่ขนาดร้าน) และ 2.แบบคีออสก์ มูลค่า 5 แสนบาท โดยทั้งสองรูปแบบ มีการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ 3.5 แสนบาท อายุสัญญาแฟรนไชส์ 3 ปี มีเงื่อนไขสำคัญต้องรับวัตถุดิบหลักจากบริษัทแม่ ได้แก่ ขนมปัง และเนื้อสัตว์สำหรับใส่เบอร์เกอร์ ส่วนวัตถุดิบพื้นฐานอื่นๆ จะระบุให้ซื้อตามลักษณะที่กำหนด

คีออสก์ของ Casper burger
ทั้งนี้ กำไรโดยเฉลี่ยต่อหน่วย หักเฉพาะค่าต้นทุนวัตถุดิบ อยู่ที่ประมาณ 50% ส่วนระยะเวลาคืนทุน จะแตกต่างกันไปตามแต่รูปแบบการลงทุน และทำเลที่ตั้ง ทว่า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 ปี
หน้าร้าน Casper burger ในแมนชั่น7
ผู้จัดการแฟรนไชส์ เสริมต่อว่า เงื่อนไขส่วนรายละเอียดต่างๆ ในการร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจของแต่ละรายจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น ศักยภาพของทำเล ความพร้อมด้านเงินลงทุน และบุคลากร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริษัทแม่ มีแผนจะช่วยเหลือสาขาแฟรนไชส์ ด้วยการทำตลาดในภาพใหญ่ เช่น ลงสื่อโฆษณา ออกงานแสดงสินค้า เพื่อแนะนำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก นอกจากนั้น การคัดเลือกผู้มาร่วมแฟรนไชส์ จะต้องเป็นผู้มีความพร้อมจริงๆ โดยยึดคุณภาพมาก่อนปริมาณ ทั้งนี้ ตั้งเป้าการขยายสาขา ทั้งด้วยตัวเอง กับสาขาแฟรนไชส์ ประมาณ 1 สาขาต่อเดือน

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

โทร.08-2345-5465 หรือ www.casperburger.com
กำลังโหลดความคิดเห็น