หอการค้าไทย เผยผลสำรวจผู้คนใช้จ่ายช่วงตรุษจีน ชี้บรรยากาศไม่คึกคัก สืบเนื่องเหตุน้ำท่วม และยังไม่ขึ้นค่าแรง 300 บาท เผยอีสานคนแห่ใช้เงินมากสุด เหตุไม่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน จากจำนวนตัวอย่าง 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-15 มกราคม 2555 พบว่า บรรยากาศตรุษจีนปีนี้ไม่ค่อยคึกคัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม และกังวลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ทั่วประเทศจะมีการใช้จ่าย รวม 40,143.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากตรุษจีนปีก่อน เพียงร้อยละ 2.56 ที่มียอดการใช้จ่าย 39,141.40 ล้านบาท ซึ่งหากไม่มีเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ ตรุษจีนปีนี้น่าจะมีเม็ดเงินสะพัด 42,000-43,000 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 7
"เศรษฐกิจในไตรมาส 1 ยังไม่ฟื้นตัว คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 1.5-2.5 ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายตรุษจีนไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะหลายคนต้องใช้จ่ายเงินเพื่อฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ประกอบกับยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน โครงการรับจำนำข้าวยังเดินหน้าไม่เต็มที่ เพราะปริมาณข้าวน้อยลงจากผลกระทบน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ซ้ำเติม และกังวลต่อการก่อการร้าย ทำให้การท่องเที่ยวไม่ฟื้น กดดันเศรษฐกิจและบรรยากาศตรุษจีนปีนี้อีกด้วย" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่าเมื่อพิจารณาการใช้จ่ายเป็นรายภาค พบว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้จะมีเงินสะพัดมากที่สุด 14,893 ล้านบาท แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เพียงร้อยละ 2.11 สวนทางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือเติบโตร้อยละ 4.81 จาก 6,060 ล้านบาท เป็น 6,352 ล้านบาท สาเหตุเพราะภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ผู้บริโภคร้อยละ 80 ระบุว่ามาจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น และเป็นปัญหาที่ผู้บริโภควิตกกังวลมากที่สุด และจากผลการสำรวจพบว่าผู้บริโภคใช้จ่ายในการซื้อสินค้าคงทนถึง 5,593 บาท และเสื้อผ้า 1,962 บาท มากขึ้นกว่าปีก่อน เพื่อฟื้นฟูที่อยู่อาศัยหลังน้ำท่วม ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการซื้อของไหว้เจ้าอยู่ที่ 2,299 บาท ใกล้เคียงกับปีก่อน