xs
xsm
sm
md
lg

"เถ้าฮงไถ่" เจ้าแรกโอ่งราชบุรี ติดปีกก้อนดินสู่เซรามิกโมเดิร์น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย้อนกลับไปเกือบ 80 ปีที่แล้ว ต้นตระกูลของโรงงาน “เถ้าฮงไถ่” ได้เข้ามาบุกเบิกเครื่องปั้นดินเผาเป็นรายแรกในจังหวัดราชบุรี จนสร้างชื่อให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นเมืองหลวงของการทำ “โอ่งมังกร” ทว่า ด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป ความจำเป็นใช้โอ่งเก็บน้ำน้อยลง ผลักดันให้ผู้ผลิตรายนี้ พลิกโฉมธุรกิจ โดยพัฒนาดีไซน์ พร้อมเปลี่ยนตลาดจากเครื่องใช้ในบ้านสู่กลุ่มของตกแต่ง ช่วยให้ยังรักษาแชมป์เบอร์หนึ่งในวงการมาจนถึงปัจจุบัน
วศินบุรี  (ซ้าย) และชาญชัย  สุพานิชวรภาชน์
วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่น 3 เล่าว่า การพัฒนาสินค้าเกิดขึ้นตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ (ชาญชัย สุพานิชวรภาชน์) จากในอดีตที่โรงงานเคยเป็นผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาแทบจะผูกขาดในท้องถิ่น กระทั่ง ระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจทำโอ่งมังกรในราชบุรีเติบโตอย่างรวดเร็ว โรงงานเกิดใหม่จำนวนมาก ทำให้การแข่งขันสูง โอ่งถูกผลิตจนล้นตลาด ราคาตกต่ำ ที่สำคัญ ภาชนะทำจากพลาสติกกำลังถูกใช้ทดแทน ทำให้คุณพ่อมองการณ์ไกลเลือกจะหนีการแข่งขัน หันไปเปิดตลาดใหม่ โดยพัฒนางานเครื่องปั้นดินเผาจากเครื่องใช้ในครัวเรือนมาเป็นของตกแต่งบ้าน
โอ่งมังกร รูปแบบโบราณ
“แนวคิดของคุณพ่อตอนนั้น เห็นว่า ลำพังจะทำเครื่องปั้นเพื่อใช้การสอยอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ทำให้เริ่มปรับตัวนำความรู้ใหม่ๆ จากต่างประเทศมาพัฒนา เช่น ริเริ่มนำดินขาวจากประเทศจีน เพื่อวาดลวดลายบนโอ่ง บุกเบิกทำเซรามิกสีเขียวไข่กา และสีน้ำเงินขาว ช่วยให้สร้างสรรค์เครื่องปั้นที่แตกต่างออกไปได้ เพื่อการตกแต่งบ้าน สวน โดยขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มโรงแรม รีสอร์ต และส่งออกไปต่างประเทศ ทำให้สินค้าจากโรงงานของเรา สร้างมูลค่าจากเดิมหลายเท่า และไม่ต้องลงไปแข่งขันกับเจ้าอื่นๆ” วศินบุรี เล่าจุดเปลี่ยนโรงงาน
โอ่งมังกรดีไซน์ใหม่

ในส่วนทายาทรุ่นที่ 3 พกดีกรีปริญญาตรี และโทด้านเซรามิกจากประเทศเยอรมนี เข้ามารับช่วงต่อ เมื่อประมาณ 11 ปีที่แล้ว โดยนำเทคนิคการผลิตสมัยใหม่มาปรับใช้ เช่น ใช้โนฮาวการทำสีจากเยอรมนี ซึ่งคุณภาพดี และปลอดภัย อีกทั้ง บุกเบิกสร้างรูปแบบเซรามิกสมัยใหม่อย่างจริงจัง นับเป็นการพลิกโฉมวงการเซรามิกรายแรกๆ ในประเทศไทยเลยทีเดียว

พัฒนาเป็นงานวอลล์อาร์ต
“ผมรู้สึกว่า สิ่งที่อากง และพ่อทำมาตลอด มันยิ่งใหญ่ ผมจึงไม่คิดเปลี่ยนสิ่งดีๆ หรือแก่นที่เคยมีมา เพียงแต่ต่อยอดจากของเดิม โดยใส่ไอเดียและดีไซน์ใหม่ๆ เข้าไป เช่น ทำสีสันให้ฉูดฉาด แตกต่างไปจากที่โรงงานเคยทำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสีโทนเย็น แต่ผมมาปรับให้มีสีสันร่วมสมัย มีให้เลือกเกือบพันเฉดสี ขณะที่รูปทรงประยุกต์ในแบบไม่เคยมีมาก่อน ปรากฏว่า งานของผมไปโดนใจนักออกแบบตกแต่งโรงแรมและรีสอร์ตยุคใหม่ ทำให้ได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเยอะ จากนั้น ผมก็ยึดแนวทางพัฒนาไม่หยุดนิ่งมาตลอด ซึ่งช่วยให้เรามีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เข้ามาต่อเนื่อง” ทายาทรุ่น 3 เผย และเล่าต่อว่า
ชุดโต๊ะ เก้าอี้ สำหรับนั่งในสวน
ช่างของโรงงาน กำลังวาดลวดลาย
ผลิตภัณฑ์ของโรงงาน “เถ้าฮงไถ่” เกือบทั้งหมดเป็นงานเซรามิกเพื่อการตกแต่ง ตั้งแต่ชิ้นเล็กถึงใหญ่ มีทั้งแนวสมัยใหม่ และแนวย้อนยุค โดยเน้นรับผลิตงานตามออเดอร์ ราคาสินค้าเฉลี่ยจะสูงกว่าท้องตลาด สูงสุดที่เคยทำคือ โอ่งสูง 2 เมตร ใบละ 8 หมื่นบาท กลุ่มลูกค้า 70% เป็นตลาดในประเทศ ส่วน 30% ส่งออกไปยังยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของวศินบุรี ค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับอนาคตวงการเซรามิกไทย เนื่องจากปัจจุบัน ตลาดแคบลง ขณะที่การลงทุนสูงสวนทางกับราคาที่แข่งขันกันขายถูก เฉพาะแค่ใน จ.ราชบุรี มีโรงงานทำโอ่งมังกรกว่า 50 ราย แทบทุกเจ้าทำสินค้าเลียนแบบคล้ายกันไปหมด อีกทั้ง ยังมีสินค้าจีน และเวียดนามมาตีตลาดด้วย ขณะที่บุคลากรรุ่นใหม่ด้านการออกแบบเซรามิกขาดการสนับสนุนเท่าที่ควร
งานเซรามิกโมเดิร์น

จากความวิตกดังกล่าว หนุ่มนักออกแบบ พยายามหาทางกระตุ้น และส่งเสริมวงการเซรามิก โดยเฉพาะใน จ.ราชบุรี เช่น เปิดโรงงานตัวเองเป็นแกลอรี่ ให้ผู้สนใจเข้าชมผลงานที่ออกแบบด้วยความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจน เปิดฝึกอบรมเด็กรุ่นใหม่เข้าสู่วงการ และร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น จัดกิจกรรมปลุกกระแสให้ จ.ราชบุรี เป็นเมืองศิลปะแห่งเซรามิก

จัดแสดงผลงานเซรามิกภายในโรงงาน
“ผมเชื่อว่า โอกาสของเซรามิกราชบุรี ต้องเป็นตลาดสินค้าทางเลือกเฉพาะกลุ่ม เน้นที่คุณภาพ ดีไซน์ และความหลากหลาย เพื่อเพิ่มมูลค่า ผมอยากให้แต่ละโรงงาน มีแนวคิดไม่แข่งกับคนอื่น แต่ต้องแข่งกับตัวเอง สร้างสรรค์สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ประจำโรงงาน ซึ่งจะทำให้ตลาดเซรามิกของราชบุรีเติบโตและยั่งยืน” ทายาทรุ่น 3 ปิดท้าย

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

เปิดตำนาน "เถ้าฮงไถ่" เจ้าแรกโอ่งราชบุรี

จุดกำเนิดเครื่องปั้นดินเผาราชบุรี เริ่มเมื่อ “ซ่งฮง แซ่เตีย” (บิดาของชาญชัย สุพานิชวรภาชน์) และ “จือเหม็ง แซ่ฮึ้ง” สองหนุ่มชาวจีนที่เคยทำเครื่องปั้นดินเผา อยู่ในโรงงานที่เมืองปังโย มณฑลกวางตุ้น ประเทศจีน เมื่ออพยพมาหากินในเมืองไทย ได้พบแหล่งดินเหนียวคุณภาพดีที่ จ.ราชบุรี จึงช่วยกันก่อตั้งโรงงานเมื่อ พ.ศ.2476 เริ่มแรกทำไหน้ำปลา และโอ่งใส่น้ำ โดยบรรทุกลงเรือเร่ขาย

เนื่องจากเวลาดังกล่าว เกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 เมืองไทยไม่สามารถนำเข้าเครื่องปั้นดินเผาจากประเทศจีนได้ ทำให้กิจการเครื่องปั้นดินเผาของโรงงานแห่งนี้เติบโตอย่างสูง ผูกขาดตลาดเพียงเจ้าเดียวอยู่นานหลายปี ซึ่งต่อมา หุ้นส่วนแต่ละคน ต่างแยกย้ายกันไปขยายกิจการสร้างโรงงานของตัวเอง ซึ่งในส่วน “ซ่งฮง แซ่เตีย” ได้ตั้งโรงงาน “เถ้าฮงไถ่” และอยู่คู่ดินแดนแห่งนี้เรื่อยมา จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราชบุรี กลายเป็นแหล่งผลิตโอ่งมังกรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
กำลังโหลดความคิดเห็น