สสว. เผยน้ำท่วมฉุด GDP SMEs ล่วงกว่า 2% กระทบ ผปก.กว่า 5 แสนราย และกระทบจ้างงานกว่า 2 ล้านราย คาดแนวโน้ม SMEs ปี 2555 ขยับกลับมาขยายกว่า 4% จากปัจจัยการส่งออก และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ แม้ประเทศคู่ค้า จะชะลอการสั่งซื้อสินค้าในช่วงนี้ ด้าน ส.อ.ท. ชี้สาขาไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ซึมยาวถึงสิ้นไตรมาสแรก
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจ SMEs ไทย หลังเศรษฐกิจฟื้นจากน้ำท่วม โดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า สสว.ได้ประเมินเศรษฐกิจ SMEs ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 พบว่า มีกิจการ SMEs ตั้งใหม่ 49,912 ราย การยกเลิกกิจการอยู่ที่ 6,663 กิจการ เพิ่มขึ้น 36.23% หรือ 666 ราย/เดือน มาจากปัจจัยภายในประเทศ ส่วนมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า 1,740,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% จากประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย
ทว่า เมื่อเกิดวิกฤตน้ำท่วมได้ส่งผลกระทบต่อ SMEs ทั่วประเทศประมาณ 557,637 ราย มูลค่าเสียหาย 71,156.42 ล้านบาท/เดือน ทำให้ GDP SMEs ปี 2554 ลดลงอยู่ที่ 1.8-2.0% ลดลงประมาณ 2% จากเดิมที่คาดว่า ปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 4-4.2 และชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว (2553) ซึ่งอยู่ที่ 7.8%
สำหรับแนวโน้มในปี 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 คาดว่าเศรษฐกิจประเทศจะเติบโตอยู่ระหว่าง 3.5-4.5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.3% ส่วนเศรษฐกิจ SMEs (GDP SME) จะเติบโตอยู่ระหว่าง 3.8-4.2% จากปัจจัยอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าจะขยายตัวได้ตามการจ้างงานที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว
“จากอุทกภัยที่ผ่านมาก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมมีมูลค่ารวม 71,156.42 ล้านบาท/เดือน และกระทบต่อการจ้างงานประมาณ 2,325,644 ราย ดังนั้นทาง สสว.จึงปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจของ SMEs (GDP SME) ในปี 2554 ลง 2.0-2.2% จากเดิมที่มีการประมาณการขยายตัวที่ 4.0-4.2% เหลือประมาณ 1.8-2.0% เท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยนี้ ถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญกับการประกันภัย และการบริหารความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น” ผอ.สสว กล่าว
ด้านนายมานะผล ภู่สมบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกรรมการบริหารสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) เผยว่า อุตสาหกรรมหลักบางประเภทของไทย อาจจะต้องชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก อาหาร เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอ อัญมณี เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมยาง ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง