xs
xsm
sm
md
lg

"เอสเอ็มอีแบงก์" ใจดีพักหนี้ลูกค้าโดนน้ำท่วม 1 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายโสฬส สาครวิศว  กก.ผจก.เอสเอ็มอีแบงก์
“เอสเอ็มอีแบงก์” ยื่น ครม. ขออนุมัติวงเงินปล่อยกู้พิเศษเพิ่ม 1 หมื่นล้าน ช่วย ผปก.ประสบอุทกภัย ระบุเบื้องต้นช่วยพักหนี้ลูกค้า 3 เดือนถึง 1 ปี เล็งออกโปรแกรมพิเศษช่วยฟื้นฟูหลังน้ำลด พร้อมเป็นตัวกลางผลักดันธุรกิจลูกค้าขับเคลื่อนครบวงจร

นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติก่อนหน้านี้ที่อนุมัติวงเงิน 2,000 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยสินเชื่อพิเศษช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบอุทกภัย ภายใต้เงื่อนไข วงเงินกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 8% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 2 % ทุกปี โดยผู้ประกอบการจะจ่าย 6% ต่อปี มีระยะผ่อนชำระนาน 6 ปี และปลอดเงินต้น 2 ปีแรก โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์พร้อมจะดำเนินการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวทันที หลังจากน้ำเริ่มลด และสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จากการสำรวจของเอสเอ็มอีแบงก์ขณะนี้ จำนวนลูกค้าที่โดนผลกระทบแล้วมากกว่า 5,000 ราย มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ วงเงินที่อนุมัติมาเบื้องต้น 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น เอสเอ็มอีแบงก์ได้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อขอเพิ่มวงเงินปล่อยกู้อีก 10,000 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขสินเชื่อพิเศษเหมือนเดิม ซึ่งเชื่อว่าจะพอเพียงต่อความต้องการเงินทุนของผู้ประกอบการ

นายโสฬส เผยต่อว่า ในส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์เอง ได้ช่วยเหลือลูกค้าที่โดนน้ำท่วมในเบื้องต้น โดยพักหนี้ให้ลูกค้า 3 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับความต้องการและผลกระทบของลูกค้าแต่ละราย อีกทั้ง หลังจากน้ำลดแล้ว ทางเอสเอ็มอีแบงก์จะมีการจัดโปรแกรมสินเชื่อพิเศษ เพื่อเพิ่มทุนให้แก่ลูกค้าทั้งรายเก่า และรายใหม่ สำหรับนำไปฟื้นฟูกิจการ วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ต่อราย ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น (Grace Period) ปีแรก โดยลูกค้าเดิม คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ลูกค้าใหม่ คิดอัตราดอกเบี้ย MLR +0.5 % ต่อปี ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอใช้บริการได้ที่ทำการสาขา ธนาคารทั่วประเทศ

นอกจากนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ทางเอสเอ็มอีแบงก์จะจัดทำกิจกรรมต่างๆ ในการเป็นตัวกลางประสานงาน เพื่อช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าเอสเอ็มอีแบงก์ สามารถกลับมาขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วที่สุด เช่น ด้านการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หาแหล่งวัตถุดิบ และหาช่องทางตลาด เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น