xs
xsm
sm
md
lg

"เขาใหญ่ พาโนรามา ฟาร์ม" ฉีกแนวฟาร์มเห็ด ชูท่องเที่ยวเพื่อครอบครัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายด้านหน้า
“เขาใหญ่ พาโนรามา ฟาร์ม” (Khao Yai panorama farm) ฟาร์มเห็ดที่เพิ่งจะเปิดดำเนินการมาไม่กี่เดือน หลังจากที่ “ปรเมศวร์ สิทธิวงศ์” ร่วมกับหุ้นส่วน 2 คนตัดสินใจใช้เงินลงทุนเกือบ 10 ล้านบาทเพื่อทำธุรกิจฟาร์มเห็ดท่องเที่ยวด้วยการปรับเปลี่ยนที่ดินประมาณ 2 ไร่ครึ่งริมถนนธนะรัชต์ทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มาทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเขาใหญ่
ปรเมศวร์ สิทธิวงศ์  เจ้าของธุรกิจ
เขาเล่าว่า เมื่อได้โอกาสรู้จักกับเพื่อน 2 คน คนหนึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเห็ด โดยได้ทุนจากมูลนิธิชัยพัฒนาทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเห็ด โดยทำโรงเรือนเห็ดโคนญี่ปุ่นระบบปิดแบบราคาถูก เพราะต้องการนำความรู้มาช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งตามปกติใช้โรงเรือนระบบเปิดซึ่งได้ผลผลิตน้อยกว่ากันหลายเท่า ส่วนเพื่อนอีกคนหนึ่งมีความรู้เกี่ยวกับเห็ดและการออกแบบสถาปัตยกรรม จึงช่วยกันออกแบบฟาร์มเห็ดแห่งนี้ให้สอดรับกับการท่องเที่ยวที่แตกต่างไปจากเดิมซึ่งส่วนมากเป็นฟาร์มเห็ดแบบบ้านๆ

รูปแบบโรงเรือนที่ทำไม่ซ้ำใครในสไตล์โมเดิร์น ด้วยการใช้ผนังตาข่าย ใช้หลังคาเป็นเหล็กแผ่น เพื่อให้มีความโปร่งสามารถระบายอากาศได้ดีตามแบบที่เห็ดชอบและเหมาะกับการท่องเที่ยว นอกจากนี้ พื้นที่ที่อยู่เป็นช่องลมยิ่งทำให้อากาศถ่ายเทดี ซึ่งการที่เขาใหญ่เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีอากาศดี จึงพยายามสื่อสารจุดนี้ออกไปด้วย รวมทั้ง การใช้ราวเหล็ก การจัดวางเพื่อให้สวยงาม ซึ่งผลผลิตที่ได้ไม่มีการส่งไปขายในตลาด เพราะปริมาณไม่พอสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวอยู่แล้ว

การออกแบบเป็น “ฟาร์มเห็ดท่องเที่ยว”ซึ่งเป็นการขายประสบการณ์ โดยมีรูปแบบที่เรียกว่า “pick&pay” เพราะนักท่องเที่ยวสามารถเก็บเห็ดสดๆ ที่โรงเพาะ ซึ่งราคาที่ตั้งไว้อยู่ระหว่างตลาดค้าส่งกับซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น ในซูเปอร์มาร์เก็ตเห็ด
บรรยากาศยามค่ำ
โคนญี่ปุ่น 100 กรัม 54-60 บาท ที่นี่ขาย 30 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมองว่าควรจะสร้าง “สินค้าแปรรูป” โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้าง “ความแตกต่าง” ซึ่งในปัจจุบันมี “ไส้อั่วเห็ด” เป็นจุดขาย จากปกติที่อื่นๆ มีการแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ เช่น แหนมเห็ด น้ำพริกเห็ด น้ำเห็ด ฯลฯ อีกทั้ง ยังศึกษารายละเอียด เช่น แหนมเห็ดที่ทำตามปกติเป็นเห็ดนางฟ้า แต่เพราะที่นี่เน้นเห็ดโคนญี่ปุ่นจึงนำมาทำเป็นแหนมเห็ดโคนญี่ปุ่น และ มีน้ำเห็ดเจ็ดอย่างเป็น welcome drink เพื่อสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือน ซึ่งการแปรรูปในอนาคตจะพัฒนาเป็นผงเห็ดชงดื่มเพื่อให้สะดวกยิ่งขึ้น ฯลฯ
ภาพระหว่างก่อสร้าง
สำหรับวิธีเลือกคือมีทั้งพันธุ์พื้นๆ ทั่วๆ ไปที่ คุ้นเคย กับพันธุ์ที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะในตอนที่ออกมาเป็นดอกซึ่งไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็น เห็ดนางรมฮังการี นางฟ้าภูฐาน เห็ดหูหนูดำ มีอยู่ทั่วไป แต่มีเห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนูเผือก เห็ดนางนวล เห็ดหลินจือ ซึ่งหายาก นอกจากนี้ ยังมีวิธีการแนะนำหรือสาธิตการรับประทาน เพราะเห็ดแต่ละประเภทเหมาะกับการปรุงที่แตกต่างกัน เช่น เห็ดเป๋าฮื้อย่าง เห็ดนางรมทอด เป็นต้น

นอกจากจะมีเห็ดที่ยืนพื้นอยู่ประจำ 9 ชนิด ยังมีเห็ดชนิดใหม่ๆ ที่เตรียมไว้เพิ่มและหมุนเวียน เช่น เห็ดนางรมทอง เห็ดหัวลิง เห็ดโต่งฝนที่อยู่ในดินเป็นเห็ดพื้นบ้านของลาว เห็ดตืนแรดเป็นเห็ดพื้นบ้านของโคราชเป็นเห็ดป่า ฯลฯ และมีแผนจะทำโรงก้อนเชื้อเพื่อต่อไปจะทำเป็นเห็ดชุดในแพ็คเพื่อขายให้นำไปเพาะสนุกๆ เพื่อเพิ่มกิจกรรมให้กับการท่องเที่ยว โดยไม่ได้คิดจะทำในเชิงอุตสาหกรรมเกษตร อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคมปีนี้จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเห็นความสมบูรณ์ของเห็ดที่เตรียมไว้

ส่วนกลุ่มเป้าหมายเป็นทั้งลูกค้าที่อยู่เขาใหญ่ และนักท่องเที่ยวต่างถิ่น จากการเปิดบริการที่ผ่านมากว่า 1 เดือน เป็นกลุ่มครอบครัว พฤติกรรมคนสูงอายุและเด็กสนุกกับการเก็บ วัยรุ่นชอบถ่ายรูป ขณะที่ กลุ่มผู้ใหญ่ชอบบรรยากาศสบายๆ เช่นกัน โดยมีลูกค้าประมาณหนึ่งร้อยคนต่อวัน สำหรับเห็ดโคนญี่ปุ่น ที่เลือกมาทำเพราะเพื่อนเชี่ยวชาญและต้องรอจังหวะให้ก้อนเชื้อหมดอายุการใช้คือประมาณ 8-9 เดือนซึ่งทำในโรงเรือน นอกจากส่วนที่เป็นระบบเปิดสามารถเข้าไปเก็บได้เอง โดยมีรองเท้าแตะสำหรับเปลี่ยนก่อนเข้าและอ่างล้างมือ ยังมีส่วนที่เป็นระบบปิดเพื่อป้องกันเชื้อโรคซึ่งหากลุกลามจะรวดเร็วมาก

การประชาสัมพันธ์ในช่วงนี้ใช้การติดป้ายหน้าฟาร์มเพื่อเชิญชวน และมีการถ่ายรูปนักท่องเที่ยวเพื่อนำไปใส่ในเฟซบุ๊ก ซึ่งความได้เปรียบคือระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มกลุ่มลูกค้ากรุ๊ปทัวร์ แต่รับในจำนวนไม่มาก เพราะที่ผ่านมาเห็ดซึ่งเพาะอยู่ใน 12 โรงเรือน ไม่พอให้เก็บหากนักท่องเที่ยวเข้ามามากเกินไปในช่วงเวลาเดียวกัน

เขาบอกถึงเป้าหมายในธุรกิจนี้ว่า ไม่คาดหวังความร่ำรวย แต่อยากจะสร้างให้ครอบครัวได้มาอยู่ร่วมกัน เพราะพ่อแม่ส่งลูกไปเรียนไกลๆ สูงๆ ซึ่งในที่สุดลูกก็ไปทำงานในที่ไกลๆ ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะฉะนั้น การทำธุรกิจเช่นนี้จึงเป็นหนทางที่จะชักชวนให้พี่น้องกลับมาบ้าน เมื่อเห็นว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เพียงพอ และนอกจากฟาร์มเห็ดแล้วยังเตรียมลงทุนธุรกิจรีสอร์ตเพื่อสุขภาพ โดยใช้พื้นที่ 30 ไร่ จากที่มีอยู่ทั้งหมด 90 ไร่ ซึ่งจะเน้นความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด และคงพื้นที่เดิมซึ่งเป็นสวนน้อยหน่าและมะม่วงเอาไว้ให้ดีที่สุด

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

*** ข้อมูลโดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ ****
กำลังโหลดความคิดเห็น