ก.คลัง พร้อมรับพิจารณาสินเชื่อพิเศษช่วยเอสเอ็มอีประสบอุทกภัย ผ่าน “เอสเอ็มอีแบงก์” วงเงินรวม 2 พันล้าน อัตราดอกเบี้ยพิเศษ พร้อมมอบหมายเตรียมมาตรการลดผลกระทบค่าแรง 300 บ.
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ว่า จากปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัดของประเทศเวลานี้ ทางกระทรวงการคลังพร้อมจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางเอสเอ็มอีแบงก์จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.)
ทั้งนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ได้เสนอขอวงเงินปล่อยกู้ รวม 2,000 ล้านบาท โดยใช้ตามหลักเกณฑ์พิเศษคล้ายกับที่เคยปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบอุทกภัยเมื่อปีที่แล้ว (2553) โดยจำกัดวงเงินกู้สูงสุด 1 ล้านบาทต่อราย อายุการกู้ยาว 6 ปี กู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ปลอดชำระเงินต้นในระยะเวลา 2 ปีแรก และปีต่อไปเป็น MLR ส่วนอัตราดอกเบี้ยคงที่ เวลานี้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณว่าควรอยู่ที่ระดับใด โดยทางกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยสนับสนุนดอกเบี้ย 2% คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้กว่า 4,000-5,000 ราย
นายวิรุฬ เผยด้วยว่า ได้มอบหมายให้ทางเอสเอ็มอีแบงก์เตรียมศึกษาหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นตอน 300 บาทของรัฐบาล โดยให้มีมาตรการออกมาทันต่อความชัดเจนของนโยบายดังกล่าวที่จะมีผลใช้จริง
ทั้งนี้ จากการรับฟังสรุปผลการทำงานของเอสเอ็มอีแบงก์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2552-2554) ภายใต้ทีมผู้บริหารชุดปัจจุบัน ถือว่ามีผลงานที่ดี โดยสินเชื่อปีนี้ (2554) เติบโตถึง 100,000 ล้านบาท ยอดหนี้เสียจากเคยสูงถึง 50% ลดเหลือ 16% และมีจำนวนลูกค้าผู้ประกอบการ รวมกว่า 70,000 คน และปีนี้ คาดจะทำกำไรถึงกว่า 200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้เพิ่มเติมด้านสร้างความรับรู้ถึงบริการของเอสเอ็มอีแบงก์ต่อผู้ประกอบการรายย่อยให้มากที่สุด เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากยิ่งขึ้น และให้เอสเอ็มอีแบงก์เป็นสถาบันการเงินเพื่อผู้ประกอบการระดับล่างอย่างแท้จริง
นอกจากนั้น อยากให้เอสเอ็มอีแบงก์เจาะจงการช่วยเหลือธุรกิจในสาขาที่สำคัญมากยิ่งขึ้น เช่น อาหาร และแฟชั่น เป็นต้น เพี่อต่อยอดไปสู่ตลาดต่างประเทศ และรองรับการเปิดเสรีอาเซียน