เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว สำหรับเฟอร์นิเจอร์สไตล์จักสานและถักทอ แบรนด์ “ฮาวายไทย” (Hawaii Thai) ยืนหยัดเป็นหัวหอกสำคัญของวงการเฟอร์นิเจอร์ไทยบุกเบิกตลาดส่งออกไปทั่วโลก โดยปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จ มาจากการพัฒนาเปลี่ยนวัสดุเส้นหวายธรรมชาติมาเป็นเส้นใยพลาสติกเสมือนจริง ถือเป็นรายแรกในวงการ ผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยรายนี้ ได้รับการยอมรับอย่างสูงในตลาดโลก
“ฮาวายไทย” ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2498 โดยรุ่นพ่อ (เจน วิภวพาณิชย์) ที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์สานด้วยหวาย ขายให้แก่ทหารอเมริกาที่เข้ามาอาศัยในเมืองไทยช่วงสงครามเวียดนาม จนหลังสงครามยุติได้บุกเบิกส่งออกเฟอร์นิเจอร์หวายไปตลาดสหรัฐฯ ซึ่งได้ผลตอบรับอย่างสูงเพราะชื่นชอบงานประเภทหัตถกรรม
อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนที่ผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างสูง เป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เนื่องจากประมาณ 20ปีที่แล้ว รัฐบาลมีนโยบายปิดป่า ผลกระทบหวายธรรมชาติหายากมาก จำเป็นต้องหาวัสดุอื่นทดแทน เป็นที่มาของการสร้างนวัตกรรมเส้นใยสังเคราะห์ “ดูราวีร่า” (Durawera) มีลักษณะภายนอกเหมือนหวายธรรมชาติอย่างยิ่ง
วิวัฒน์ วิชัย และอลิสา วิภวพาณิชย์ ทายาทธุรกิจปัจจุบัน อธิบายว่า นวัตกรรมเส้นใยสังเคราะห์ดังกล่าว ต้นกำเนิดที่ประเทศเยอรมนี โดยทางบริษัทนำมาต่อยอดให้มีลักษณะภายนอก และสีสัน เหมือนหวายธรรมชาติให้มากที่สุด โดยใช้เวลาวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันการศึกษานานนับปี กับเงินทุนเกือบ 8 หลัก ถือเป็นรายแรกของโลกที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์สานหวายเลียนแบบธรรมชาติ
ดูราวีร่าทำมาจากเส้นใยซินเทติก (Synthetic) โดยเป็นวัสดุต้นไม้ผสมกับพลาสติก มีคุณสมบัติยืดหยุ่นมากกว่าหวายธรรมชาติ คงทนต่อรังสียูวี และความร้อนได้ถึง 50 องศาเซลเซียส การสึกกร่อนต่ำ สีไม่ซีดจาง ดูแลรักษาง่าย โดยบริษัทรับประกันคุณภาพสินค้าถึง 5 ปี
วิวัฒน์ เสริมว่า จากคุณสมบัติเด่นด้านความคงทน บริษัทฯ จึงเน้นผลิตเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้ง มีดีไซน์สากลผสานกับฝีมือการสานและทออันประณีตของคนไทย ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างยิ่ง ในยุคที่รุ่งเรืองสุดขีด ก่อตั้งโรงงาน บนเนื้อที่กว่า 80 ไร่ ที่ จ.ปราจีนบุรี โดยมีพนักงานทั้งประจำ และชั่วคราว รวมกว่า 1,600 คน
ที่ผ่านมา ตลาดหลักแทบทั้งหมดกว่า 80% ของ “ฮาวายไทย” จะเน้นส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ภายใต้แบรนด์ตัวเอง และรับจ้างผลิต (OEM) กำหนดจุดยืนเป็นเฟอร์นิเจอร์เพื่อตลาดระดับ B+ ขึ้นไป มีสินค้ารวมกันนับหมื่นรายการ ตั้งแต่ชิ้นเล็ก อย่างเก้าอี้ ถึงชิ้นใหญ่สุด เช่น เตียง ชุดโซฟารับแขก เป็นต้น ราคาตั้งแต่ 2 พันบาทถึง 1.5 แสนบาท กลุ่มผู้ซื้อ 40% จะเป็นคนทั่วไป นำไปตกแต่งบ้าน ส่วน 60% จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ต และร้านอาหาร
นอกจากนั้น ได้พัฒนารูปแบบใหม่เสมอ โดยใช้ “ดูราวีร่า” เลียนแบบวัสดุธรรมชาติอื่นๆ เช่น เส้นผักตบชวา กระจูด และหนัง เป็นต้น รวมถึง ปรับวิธีการถักหรือสานให้ได้ลวดลายหลากหลาย สร้างความแปลกใหม่แก่สินค้า ขณะที่ด้านออกแบบใช้ทั้งดีไซเนอร์ไทยและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ทายาทธุรกิจ ยอมรับว่า ปัจจุบันเส้นใยสังเคราะห์เสมือนธรรมชาติไม่ใช่ของแปลกใหม่ในตลาดเฟอร์นิเจอร์โลกอีกต่อไปแล้ว ทุกวันนี้มีผู้ผลิตสินค้ารูปแบบใกล้เคียงกันจำนวนมาก โดยเฉพาะคู่แข่งจากจีน และอินโดนีเซีย ซึ่งขายตัดราคาถูกกว่าถึง 40% ประกอบกับปัจจัยค่าเงินบาทแข็งตัวอย่างยิ่ง และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากค่าพลังงานปรับตัว ส่งผลให้ภาพรวมของบริษัท แม้จะมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง ทว่า ผลกำไรกลับคงที่
จากอุปสรรคดังกล่าว ในช่วง 6 ปีหลังที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับตัว กลับมาเน้นขยายตลาดภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ผ่าน 2 ช่องทาง คือ นำเสนอสินค้าแก่นักออกแบบภายใน เพื่อนำเฟอร์นิเจอร์ไปใช้ในโครงการบ้านจัดสรร คอนโดฯ โรงแรม รีสอร์ต เป็นต้น อีกด้าน เปิดโชว์รูมขายปลีกที่ ซ.ลาดพร้าว 101 ยอดขายประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน และภายในปีนี้(2554) กำลังก่อสร้างโชว์รูมกลางแจ้งแห่งแรกของประเทศ ย่านพระรามเก้า มูลค่าลงทุนกว่าร้อยล้านบาท
“ตลาดต่างประเทศ เราวางตัวเองเป็นสินค้าตลาดบน คุณภาพเหนือกว่าสินค้าจากจีน และอินโดฯ แต่ด้วยการแข่งขันที่สูงมาก ทำให้โอกาสจะขยายตลาดเป็นเรื่องยากมาก เราจึงหันมาพึ่งตลาดในประเทศมากขึ้น เพราะเชื่อว่า เฟอร์นิเจอร์รูปแบบเสมือนธรรมชาติยังเป็นของใหม่ในเมืองไทย และไม่มีคู่แข่งโดยตรงเลย นอกจากนั้น พฤติกรรมคนไทยชอบมานั่ง outdoor มากขึ้น” ทายาทธุรกิจ เผย
ปัจจุบัน บริษัทมีจำนวนพนักงานประจำราว 130 คน และแรงงานชั่วคราวเข้ามาทำงานช่วงไฮซีซั่นอีกราว 200 คน ยอดผลิตเฟอร์นิเจอร์ประมาณ 50,000 ชิ้นต่อปี ปริมาณการส่งออกสินค้าประมาณ 400 ตู้คอนเทนเนอร์ ยอดขายเฉลี่ยต่อปีราว 200 ล้านบาท ซึ่งแผนตลาดจากนี้ จะพยายามพัฒนาสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยตลาดต่างประเทศจะมุ่งเจาะจงไปที่ Niche market เพื่อหลีกหนีการแข่งขัน ควบคู่กับเร่งขยายตลาดในประเทศ มุ่งบอกคุณสมบัติเด่นด้านความคงทน พร้อมมีบริการหลังการขายที่ดี เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@