แม้จะเป็นรายใหญ่ด้านผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งเพื่อส่งออก แต่ด้วยการขับเคี่ยวสูงจากคู่แข่งทั้งในและเทศ จำเป็นต้องเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ดังนั้น เมื่อทายาทธุรกิจเข้ามาสานต่อ พยายามเติมศักยภาพ ผ่านการสร้างแบรนด์ และสร้างจุดเด่นลงเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยเป็นเส้นที่ทำจากข้าวไทย 100% สร้างจุดขายยืดอายุการเก็บรักษา และปลอดสารกันเสีย
คุณสมบัติดังกล่าว เป็นของผลิตภัณฑ์แบรนด์ “THAI Flavour” บริษัท ล๊อตไฟว์ เทรดดิ้ง จำกัด ในเครือบริษัท ไทย เอเชีย ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด โดย “บี ล้อบุณยารักษ์” หนึ่งในทายาทธุรกิจ เผยว่า ครอบครัวทำกิจการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวมากว่า 35 ปี บุกเบิกโดยคุณพ่อ (ทวีศักดิ์ ล้อบุณยารักษ์) จากโรงงานเล็กๆ ที่ จ.แพร่ ผลิตเส้นสดขายส่งในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงละแวกภาคเหนือ ก่อนจะพัฒนาสู่การทำเส้นอบแห้ง ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนช่วยให้กิจการเติบโตอย่างสูง
“จุดอ่อนของเส้นสด คือ เก็บได้ไม่นาน ช่องทางตลาดในอดีตจึงจำกัดแค่พื้นที่ใกล้ๆ โรงงานเท่านั้น คุณพ่อจึงคิดค้นการทำเส้นอบแห้ง สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น ถือเป็นผู้ผลิตรายแรกๆ ของประเทศเลย ช่วยให้ส่งไปขายได้ทั่วประเทศ รวมถึง ยังรับจ้างผลิตให้บริษัทเทรดดิ้งเพื่อการส่งออกไปอีกหลายประเทศด้วย” บี ขยายความ
ด้วยประสบการณ์ยาวนาน เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของลูกค้าซัพพลายเออร์ บริษัทจึงเป็นผู้ผลิตก๋วยเตี๋ยวอบแห้งเพื่อส่งออกรายใหญ่ของไทย ยอดผลิตกว่า 1,200 ตันต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เป็นลักษณะรับจ้างผลิต (OEM) ให้แก่เจ้าใหญ่ต่างๆ จึงไม่สามารถกำหนดตลาดได้เอง ดังนั้น หลังจากที่ทายาทได้เข้ามารับช่วง พยายามต่อยอดกิจการ ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เน้นสร้างแบรนด์ และใส่ความแปลกใหม่ลงเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง
บี อธิบายเสริมว่า เส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งที่บริษัทพัฒนาขึ้นใหม่ ในชื่อแบรนด์ “THAI Flavour” ทำมาจากข้าวขาวล้วนๆ 100% ในขณะที่เส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งในท้องตลาดทั่วไป จะเป็นเส้นที่มีส่วนผสมของแป้งมันประมาณ 30% โดยข้อดีของเส้นทำจากข้าวล้วน จะไร้น้ำมันที่อยู่ในแป้งมัน ช่วยให้เก็บรักษาในอุณหภูมิปกติได้นานกว่า 2 ปี ในขณะที่เส้นอบแห้งผสมแป้งมัน เก็บได้ประมาณ 6 เดือน
อีกทั้ง ผลิตโดยไม่ใส่สารกันเสียใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่เส้นอบแห้งในท้องตลาด ยังจำเป็นต้องพึ่งสารเคมีบางชนิด เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษา นอกจากนั้น ยังพัฒนารูปแบบให้เป็นเส้นตรง คล้ายเส้น “พาสต้า” ช่วยให้สะดวกต่อการบรรจุซอง และเพิ่มพื้นที่จัดเรียงสินค้าในการขนส่ง ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งประหยัดลง
ส่วนในแง่รสชาติความอร่อยนั้น ทายาทธุรกิจ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัว โดยลักษณะของเส้นผสมแป้งมัน จะมีความเหนียว และมันมากกว่า ส่วนเส้นข้าวล้วนจะอ่อนนุ่ม เวลาเคี้ยวคล้ายกับกำลังกินข้าวสวย ขณะที่ต้นทุนการผลิตของเส้นทั้งสองชนิดใกล้เคียงกัน ขึ้นอยู่กับความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบข้าวขาว และแป้งมัน
บี ยอมรับว่า สัดส่วนรายได้ของบริษัทขณะนี้ กว่า 80-85% ยังมาจากรับจ้างผลิต มีลูกค้ากระจายทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ซาอุดิอาระเบีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น ในขณะที่ขายภายใต้แบรนด์ตัวเอง สัดส่วนประมาณ 15-20% กลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นแม่บ้านที่ใส่ใจสุขภาพ รวมถึงภัตตาคาร หรือร้านอาหารที่ต้องการเส้นที่มีลักษณะเฉพาะ
ส่วนในตลาดเวลานี้ การแข่งขันถือว่าค่อนข้างสูง โดยในประเทศมีโรงงานผลิตประมาณ 15 ราย ซึ่งแต่ละเจ้าจะมีจุดเด่นของตัวเองแตกต่างกันไป ส่วนคู่แข่งจากต่างชาติ คือ ผู้ผลิตประเทศเวียดนาม ซึ่งมีความชำนาญด้านการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวสูง อีกทั้ง มีข้อได้เปรียบด้านแรงงานถูกกว่า ดังนั้น แผนการตลาดของบริษัท จะเน้นเพิ่มสัดส่วนขายภายใต้แบรนด์ตัวเอง และสร้างลักษณะพิเศษให้เส้นก๋วยเตี๋ยว เพื่อจะขายได้มูลค่าสูงขึ้น รวมถึง หาทางลดต้นทุนการผลิตทุกด้านให้ได้มากที่สุด
“เราพยายามกำหนดจุดยืนของตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวเพียงอย่างเดียว ไม่หันไปผลิตสินค้าประเภทอื่นๆ ซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญ เน้นยกระดับตัวเองต่อเนื่อง จากที่ช่วงแรกเป็น OEM ต่อมาพัฒนาสู่การสร้างแบรนด์ตัวเอง และขั้นต่อมา เราพยายามใส่นวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าและหนีคู่แข่งออกไป” บี ระบุกลยุทธ์ตลาดที่วางไว้
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@