สสว.เล็งตั้งกองทุนอุ้มเอสเอ็มอีพัฒนาฝีมือแรงงาน ลดผลกระทบขึ้นค่าแรง 300 บ. ระบุกันงบ รับภาระดอกเบี้ย 2-4% กว่า 300 ลบ. พร้อมทั้งชง 5 โครงการเสนอรัฐบาลใหม่ แจงสอดคล้องความต้องการของผู้ประกอบการ และตรงนโยบายพรรคเพื่อไทย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลใหม่ ทาง สสว. ยังมีความเห็นว่า ควรปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และปรับขึ้นเป็นรายธุรกิจ และรายพื้นที่ รวมถึง มีมาตรฐานลดผลกระทบควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลใหม่จะคงยืนยันปรับขึ้นโดยทันที ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมระบุจะมีเอสเอ็มอีกว่า 15% จากจำนวนกว่า 2.9 ล้านราย ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงถึงปิดกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีกลุ่มที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ เป็นต้น
ในส่วนของ สสว. เตรียมมาตรฐานเยียวยาเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรง โดยจะจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่พัฒนาฝีมือแรงงาน (Labor Fund) และวัดผลได้ว่าผลิตภาพแรงงานเพิ่มสูงขึ้นจริง โดยรูปแบบจะคล้ายกับการตั้งกองทุนเอสเอ็มอีปรับปรุงเครื่องจักรที่เคยทำมาแล้ว โดย สสว. จะเข้าไปช่วยสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 2-4% ให้แก่เอสเอ็มอีกลุ่มพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเงินที่จะใช้ประมาณ 300 ล้านบาท แบ่งมาจากกองทุน สสว. ที่ปัจจุบันยังมีเหลืออยู่กว่า 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะเร่งช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้ผลกระทบอย่างรุนแรงก่อน เพื่อป้องกันปัญหาเลิกจ้างงาน คาดจะทำได้ทันที หลังผ่านอนุมัติของคณะกรรมการบริหารของ สสว. โดยเบื้องต้นทำงานร่วมกับสถาบันการเงินของภาครัฐ เพื่อเป็นแหล่งปล่อยสินเชื่อ ส่วนการคัดเลือกเอสเอ็มอีที่จะได้รับความช่วยเหลือ จะประสานกับหน่วยงานภาคเอกชนที่จะมีเกณฑ์มาตรฐานในการวัดผลอยู่แล้ว
ผอ.สสว. เผยด้วยว่า สถานการณ์เอสเอ็มอีในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (2554) อัตราการตั้งกิจการใหม่ เฉลี่ย 5,220 รายต่อเดือน เพิ่มจากเดิมที่มีอัตราประมาณ 4 พันต่อเดือน และอัตรายกเลิกกิจการเฉลี่ยอยู่ที่ 749 รายต่อเดือน ลดลดจากเดิมประมาณ 15%
ทั้งนี้ อัตราเติบโตเอสเอ็มอีโดยรวม(GDP SMEs) ของปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 4.2% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และต้นทุนต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ส่วนการส่งออกของเอสเอ็มอีจะเติบโตประมาณ 12-15% และนำเข้าเติบโตประมาณ 13-14% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวจากปีที่แล้วเช่นกัน
นอกจากนั้น สสว.ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคกว่า 300 ราย ประกอบกับพิจารณาดูนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีของพรรคเพื่อไทย โดยทาง สสว. ได้ประมวลพร้อมนำเสนอ 5 โครงการต่อรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องทั้งความต้องการจริงของเอสเอ็มอีและยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลใหม่ด้วย ได้แก่ 1.โครงการ GO SMEs เน้นสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพ สอดคล้องกับกองทุนตั้งตัว 2.โครงการ Beyond Border ส่งเสริมการค้าตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 3.โครงการ OTOP Plus ต่อยอดกลุ่มผู้ผลิตสินค้าโอทอปสู่ตลาดที่กว้างยิ่งขึ้น ทั้งระดับประเทศและทวีป 4.โครงการ AEC Ready เตรียมพร้อมเอสเอ็มอีรับเปิดเสรีการค้าอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม และ5.โครงการ SMEs Corporate Venture ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากยิ่งขึ้น เช่น ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณา การค้ำประกัน และนำบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาร่วมทุนกับเอสเอ็มอี เป็นต้น