รีสอร์ตบรรยากาศเงียบสงบ สวยงาม ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย อย่าง “บุระลำปายรีสอร์ต” พยายามคงเสน่ห์ดั้งเดิมของ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อให้ผู้ที่เคยหลงรักดินแดนแห่งนี้ ยังคงแวะกลับมาเยี่ยมเยือนสม่ำเสมอ ส่งผ่านทั้งด้านแนวความคิดเชิงอนุรักษ์ที่มาปรับใช้กับการบริหารรีสอร์ต รวมถึง เอกลักษณ์และของตกแต่งต่างๆ ที่พยายามแฝงความหมายดีๆ ของปายส่งไปถึงผู้เข้าพักทุกคน
แรงบันดาลใจในการก่อตั้งรีสอร์ตนี้ มาจากหนุ่มปัตตานี “อธิราช จิตเลขา” ที่เข้ามาเที่ยวปาย ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณปี พ.ศ.2534 แล้วเกิดหลงรักดินแดนแห่งนี้อย่างลึกซึ้ง ถึงขนาดอยากใช้ชีวิตอยู่ถาวร และหลังเรียนจบทำงานเป็นทนายความ ยังคงมาปายเป็นประจำทุกเดือน
กระทั่ง เมื่อประมาณ พ.ศ.2550 ได้สานความฝันให้เป็นความจริง ด้วยการซื้อที่ดินประมาณ 23 ไร่ แล้วแบ่งพื้นที่ส่วนติดถนนใหญ่เปิดเป็นร้านกาแฟและร้านอาหาร
ด้วยข้อได้เปรียบทำเลอยู่เชิงสะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย รถทุกคันที่จะวิ่งเข้าตัวเมืองปายต้องขับผ่าน ประกอบกับกระแสท่องเที่ยวปายเริ่มได้รับความนิยมอย่างสูง ส่งให้กิจการร้านประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ช่วงสุดสัปดาห์มีรายได้ถึงแสนกว่าบาทต่อวัน เวลาเพียง 1 ปี สามารถขยายกิจการเปิดรีสอร์ตเพิ่มเติม ในชื่อ “บุระลำปายรีสอร์ต”
อธิราช เผยว่า รีสอร์ตเน้นเป็นบ้านหลังเดี่ยว สไตล์ล้านนาประยุกต์ ล้อมรอบด้วยน้ำ ภายในห้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน เบื้องต้นมี 9 หลัง ต่อมาได้ขยายเป็นทั้งหมด 33 หลัง เบ็ดเสร็จลงทุนประมาณ 70 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งขอสินเชื่อขยายกิจการจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)
เนื่องจากส่วนตัว มาเที่ยวปายตั้งแต่ยุคยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ดังนั้น ทุกส่วนภายในรีสอร์ตแห่งนี้ พยายามจะคงบรรยากาศที่เป็นเสน่ห์แบบปายดั้งเดิมไว้ เช่น มื้อเช้าจะบริการเสริมด้วยอาหารท้องถิ่นแทนเมนูสากลเหมือนโรงแรมทั่วไป หลังสี่ทุ่มจะดับไฟภายนอกอาคาร เหลือไว้เฉพาะไฟทางเดิน เพื่อให้ได้บรรยากาศเงียบสงบเหมือนอดีต อีกทั้ง ภายในร้านกาแฟ จะจัดแสดงภาพเขียนสีน้ำ บทกวี ดนตรีโฟลก์ซอง และหนังสือน่าอ่าน เพื่อเป็นมุมให้คนรักศิลปะได้มีพื้นที่ปลดปล่อยจินตนาการ และทำงานศิลป์
นอกจากนั้น จุดเด่นที่นักท่องเที่ยวจดจำรีสอร์ตแห่งนี้ได้อย่างดี คือ ปิ่นโตขนาดยักษ์สูงกว่า 3 เมตรตั้งอยู่ทั้งทางเข้ารีสอร์ต และเฉลียงร้านกาแฟ เพื่อดึงดูดให้แวะเข้ามาถ่ายรูป และยังใช้ปิ่นโตสังกะสีประดับตกแต่งทั่วบริเวณร้านกาแฟ และร้านอาหาร อีกทั้ง ในทุกห้องพักจะมีปิ่นโตตั้งไว้ด้วย เพื่อให้ผู้เข้าพักใช้เป็นภาชนะซื้อหาอาหารเข้ามากิน โดยไม่จำเป็นต้องหิ้วถุงพลาสติก ซึ่งส่วนหนึ่งจะช่วยลดขยะในปาย และยังเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมาย อยากให้คนที่มาเที่ยวปายได้ใช้ชีวิตตามอย่างที่ปายเคยเป็นมา
“ผมพยายามสอดแทรกวิถีความเป็นปายแท้ๆ เข้าไป ทั้งจัดมุมศิลปะ การเปิด-ปิดไฟตามเวลา หรือการใช้ปิ่นโต จนเป็นเอกลักษณ์ เพราะผมอยากสร้างรีสอร์ตนี้ ให้มีบุคลิกเหมือนปายตอนที่ผมมาเที่ยวแรกๆ เพื่อให้คนที่เคยมาปายแล้วประทับใจเหมือนผม อยากกลับมาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง ซึ่งเขาจะได้สัมผัสบรรยากาศสงบเรียบง่ายอย่างที่ปายเคยเป็นมา” อธิราช เสริม
สำหรับลูกค้าหลักของ “บุระลำปายฯ” กว่า 90% จะเป็นชาวไทยระดับกลางขึ้นไป ทั้งกลุ่มครอบครัว คู่รัก และเพื่อน ที่ต้องการมาพักผ่อนจริงๆ แทบทั้งหมดจะรู้จักจากการบอกต่อ โดยราคาค่าห้องพักอยู่ที่ 1,200-2,000 บาท (ขึ้นอยู่กับรูปแบบห้อง และช่วงเวลาที่เข้าพัก) อัตราเฉลี่ยการเข้าพักตลอดทั้งปีประมาณ 35-40% โดยช่วงลูกค้ามากที่สุด ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงสิ้นกุมภาพันธ์ ส่วนช่วงกลางปีที่ถือเป็นโลว์ซีซั่น ซึ่งนักท่องเที่ยวจะเข้าพักน้อย จะพยายามเน้นลดต้นทุนภายในรีสอร์ตเพื่อประคองธุรกิจ ไม่ฝืนจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาด โดยทำความเข้าใจแก่พนักงานส่วนหนึ่งให้กลับไปทำเกษตรที่บ้านเกิดชั่วคราว แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่ช่วงไฮซีซั่น รวมถึง ใช้ช่วงเวลานี้ส่งเสริมให้พนักงานประจำ ที่เหลือราว 15 คน ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น เช่น ทำการเกษตร ปลูกพืช ต้นไม้ เลี้ยงไก่ หมู วัว ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้พนักงาน
“ผมเชื่อว่า การคงเสน่ห์อย่างที่ปายเคยเป็นมาแล้ว รักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ปายอย่างยั่งยืน แม้ทุกวันนี้ปายอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็ยังสวยงามอยู่ ซึ่งผมพยายามจัดมุมดีๆ ให้คนที่รักปาย สามารถกลับมาย้อนคิดถึงความสุขในวันวานได้เหมือนเดิม” อธิราช ทิ้งท้าย
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
โทร.08-9955-5400 ,053-065-777 หรือ www.buralumpai.com