xs
xsm
sm
md
lg

เตือนสตินักเขียนหน้าใหม่ อย่าทอดทิ้ง “งานวรรณศิลป์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : โต๊ะน้ำหมึก
โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล “เซเว่นบุ๊คอวอร์ด” เวทีสำคัญที่นักเขียนหน้าเก่าและใหม่ต่างเฝ้ารอคอย เพื่อแจ้งเกิดผลงานด้านวรรณกรรม ที่เปี่ยมด้วยคุณค่าแห่งการสร้างสรรค์ ต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ เวลา ความคิด ตลอดจนจินตนาการต่างๆ เพื่อพิชิตรางวัลจูงใจมูลค่านับแสนบาท เหนืออื่นใด เมื่อนักเขียนตัดสินใจก้าวเข้าสู่เวทีประกวดหนังสือแห่งนี้ ทุกคนต่างปรารถนาที่จะได้เห็นผลงานของตน ออกสู่สายตาของแฟนนักอ่านทั่วประเทศด้วย นั่นอาจเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจที่แท้จริง สำหรับคนที่เลือกเดินบนเส้นทางถนนวรรณกรรมแห่งนี้
วันนี้ เรามีคำแนะนำและเทคนิคดีๆ มาให้ผู้สนใจส่งผลงานในปีถัดไป เกี่ยวกับแนวการผลิตงานเขียนเพื่อชนะใจทั้งคณะกรรมการและนักอ่านกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะ ในประเภทนวนิยาย
เริ่มที่ ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประธานคณะกรรมการตัดสิน เผยเรื่องนี้ในมุมมองของ "นักอ่าน” ให้ฟังว่า การเขียนให้ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นว่าต้องเรียนด้านนี้มาโดยตรงก็ได้ พร้อมบอกเคล็ดลับ 3 ข้อที่สำคัญในการเขียนเรื่องให้น่าอ่าน คือ เริ่มที่ “ก่อนเขียน” ต้องอ่านให้มาก อ่านให้รู้ อ่านให้ซึ้ง แสวงหาความรู้ให้มาก เพื่อจะได้นำข้อมูลไปใส่อย่างถูกต้อง ดังนั้น การอ่านมากจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจ และเกิดรสนิยมสุนทรีย์ที่มีต่องานวรรณศิลป์นั้นๆ เปรียบเหมือนกิน “มะม่วง” ถ้าได้กินหลายพันธุ์ก็จะรู้ว่าพันธุ์ไหนอร่อย ดังเช่นหนังสือดีมีคุณค่า ก็จะสร้างสรรค์ในแนวทางนั้นต่อไป

จากนั้นเข้าสู่กระบวนการ “ลงมือเขียน” ต้องผูกเรื่องให้กระชับอย่าให้ยาวเยิ่นเย้อโดยไม่จำเป็น เพราะจะทำให้ประเด็นสำคัญไม่ชัดเจน สำหรับตัวละครต้องโดนใจ ทำให้คนอ่านเชื่อว่ามีความรู้สึก มีตัวตนและชีวิตจิตใจจริงๆ ส่วนเนื้อเรื่อง ควรต้องมีปมปัญหาที่ชวนติดตามและมีวิธีการเขียนที่น่าสนใจ เพราะนอกจากอ่านเพลินแล้วต้องสามารถกระตุกใจให้คิดได้ด้วย รวมถึงภาษาต้องดีด้วย และข้อสุดท้าย “เขียนเสร็จแล้ว” ต้องอ่านทวนงานที่เขียน ไม่เช่นนั้นอาจมีข้อผิดพลาด ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ หรือหากมีโอกาสควรให้คนอื่นอ่าน ช่วยวิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดดีจุดด้อยของงาน ซึ่งจะทำให้ผลงานมีความโดดเด่นพอสมควร สำหรับผลงานนวนิยายที่ตีพิมพ์เป็นเล่ม การมี “บรรณาธิการ” ช่วยได้มากสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ เพราะจะชี้ถึงจุดบกพร่องและจะทำให้งานออกมาดีในอีกมุมหนึ่งทีเดียว
ส่วน ชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการตัดสินผลงานเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 8 ประเภทนวนิยาย เผยเคล็ดลับการเขียนในมุมมองของ “นักเขียนอาวุโส” ว่า ก่อนอื่นต้องดูว่าตนเองต้องการจะสร้างสรรค์งานแบบไหน สิ่งที่ควรมี 3 อย่างในการสร้างสรรค์งานคือ 1.ข้อมูลดี หมายถึง เรื่องน่าสนใจที่ตนเองรู้สึกกระทบใจ รู้สึกมีปัญหา และมีน้ำหนักจนกระทั่งอยากนำมาเขียน เพื่อจะได้จับใจผู้อ่าน 2.มีใจจริง คือต้องรู้สึกต่อเรื่องนั้นจริงๆ ควรเขียนสิ่งที่มีความหมายและออกมาจากใจ เพราะกรรมการสามารถทราบได้ว่าเรื่องไหนที่ผู้เขียนมีความรู้สึกจริงๆ กับเรื่องนั้นๆ หรือรีบเขียนให้จบ และ 3.ไม่ทอดทิ้งวรรณศิลป์ คือข้อมูลและกลวิธีเกี่ยวกับการเขียนทั้งหมด รวมถึงเรื่องภาษาด้วย ที่นักเขียนทุกคนจะต้องใส่ใจ และต้องสนใจด้วยว่าหากจะเขียนนวนิยาย จะวางโครงเรื่องอย่างไร ตัวละครจะจัดอย่างไร จะสร้างตัวละครอย่างไรให้กินใจคนอ่าน จะใส่รายละเอียดเรื่องอะไรบ้าง หรือจะวางพล็อตเรื่องอย่างไร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะตกหล่นไม่ได้ ซึ่ง 3 ข้อหลักดังกล่าว เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเขียนหนังสือให้ผู้อ่านจับใจ ไม่ว่าจะส่งผลงานเข้าประกวดหรือไม่ก็ตาม
ใครที่คิดว่าการเขียนเป็นเรื่องยาก และยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นย่างไรดี ก็ลองนำเคล็ดลับข้างต้นมาปรับใช้เป็นแนวทางในการสร้างหรือปรับปรุงงานเขียนของตนให้น่าสนใจ ไม่แน่ว่า งานเขียนชิ้นนี้ของคุณอาจไปเข้าตากรรมการอย่างจังและโดนใจนักอ่านอีกหลายต่อหลายคนก็เป็นได้

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น