xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจร่างกาย 360 องศา สุขภาพดีได้ ง่ายนิดเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ชัชพล  เกียรติขจรธาดา
 
หมอหนุ่มคนเก่ง เอ้ว-ชัชพล เกียรติขจรธาดา จากหมอรักษาคนไข้ ขอผันตัวมาเขียนหนังสือ (ชั่วคราว) เพื่อบอกเล่าประสบการณ์และความรู้ดีๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่มีผลต่อร่างกาย ด้วยวิธีการถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องเล่าที่อยู่รายรอบตัวเรา ชี้ชวนคิดด้วยประโยคคำถามที่หลายคนเคยสงสัย ทำไมคนถึงมีชู้ หรือ ทำไมเราเดินสองขา ไม่ต้องทำหน้าฉงนอีกต่อไป เพราะคำตอบอยู่หนังสือเล่มนี้แล้ว “เรื่องเล่าจากร่างกาย”

ตอนนี้หมอเอ้วมุ่งมั่นกับการเขียนหนังสือเป็นหลัก แทนอาชีพหมอไปเสียแล้ว อาจจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการถ่ายทอดผลงาน แต่จะเป็นระยะเวลาที่นานเท่าใดอันนี้หมอเอ้วก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ถึงอย่างไรแล้วก็ยังส่งความคิดถึงไปถึงอาชีพหมออยู่เรื่อยๆ แต่จะให้ทำทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันคงทำไม่ได้ดีสักอย่าง งานเขียนเรื่องเล่า...จึงเป็นสิ่งที่หมอเอ้วตัดสินใจว่าจะทำ ณ ตอนนี้

“ตอนแรกผมคิดว่าจะทำทั้งสองอย่าง แต่คงทำได้ยาก การเขียนหนังสือแนววิทยาศาสตร์มันไม่เหมือนกับการเขียนเรื่องสั้น หรือเขียนนิยาย ส่วนหนึ่งเราต้องค้นคว้า บางครั้งเขียนไปหนึ่งบรรทัดแล้วต้องกลับไปอ่านใหม่ อ่านเป็นจริงเป็นจังเพื่อให้ได้ข้อมูลแล้วนำมาเขียน เนื่องจากเราต้องให้เรื่องมันอัปเดต และบางครั้งเราคิดว่าเรารู้จักเรื่องนี้แล้วแต่พอเขียนจริงๆ มันต้องไปอ่านเพิ่มเติมเพื่อให้ข้อมูลความรู้ครบถ้วน บางครั้งเราอ่านมา 100% แล้วเอามาเขียนแค่ 10% เพราะเราต้องเขียนให้รอบด้านเพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจ”

เล่าเรื่องจากร่างกาย
จากความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ ได้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อต่อยอดของการศึกษาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามหลักการวิทยาศาสตร์ สิ่งนี้จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้หมอเอ้วเกิดความชอบ และอยากถ่ายทอดกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นรอบตัวออกมาเป็นตัวหนังสือให้คนอื่นได้รู้เช่นเดียวกัน “เรื่องเล่าจากร่างกาย” จึงเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ (Pop Science) ที่คนสามารถเข้าถึงได้ โดยเน้นเรื่องเกี่ยวกับร่างกายของคนเรา อ่านสนุก และเข้าใจง่าย

“ผมจบหมอที่จุฬาฯ และเรียนต่อทางด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศิริราช เป็นการรักษาคนไข้มะเร็งด้วยรังสี และจากนั้นตั้งใจจะเรียนต่อทางด้านการรักษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ขณะเดียวกันเราเริ่มสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ ว่ามะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร จริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์กับหมอมันเป็นเรื่องเดียวกัน วิชาการแพทย์รักษาคนไข้ต้องตั้งอยู่บนหลักวิทยาศาสตร์”

“วิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการคิด โดยใช้หลักการของเหตุและผล ส่วนวิทยาศาสตร์ที่ผมชอบจะลงลึกไปถึงที่มาที่ไป เหมือนกับการเรียนประวัติศาสตร์ เรียกว่าประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ (History of Science) เราศึกษาด้วยความอยากรู้ ไปหาอ่านต่อ สำหรับหนังสือเล่มนี้มันจึงเป็นสิ่งที่ผมอยากให้มีเหมือนที่ผมเจอ เพราะหนังสือวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ที่เราเห็น ปีหนึ่งจะออกมาไม่กี่เล่ม ยกเว้นหนังสือแปล ผมอยากเปิดตลาด ให้คนรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้น่าอ่าน มันเป็นเรื่องรอบๆ ตัว มีกระบวนการคิดที่อธิบายด้วยเหตุและผล การมีหนังสือประเภทนี้ออกมาเพื่อเป็นทางเลือกให้คนอ่านมากขึ้น”

ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือเรื่องเล่า หมอเอ้วจึงใช้วิธีการเล่าเรื่องในการเขียนหนังสือ เหมือนกับที่สอนนักศึกษาแพทย์ในห้องเรียน “อยากพูดอะไรก็พิมพ์ลงไป” จึงตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเรื่องเล่าจากร่างกาย ที่ใครได้อ่านเหมือนนั่งฟังเลกเชอร์จากอาจารย์หมอคนนี้

“หนังสือเรื่องเล่าจากร่างกายเล่มนี้ สิ่งที่ผมพยายามให้เห็นคือ วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่อ่านง่ายๆ ได้ และน่าสนใจ ส่วนตัวเนื้อหา ผมเขียนสิ่งที่ผมถนัด นั่นคือเรื่องการแพทย์ที่มองผ่านวิวัฒนาการ จะเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ผมเขียนในลักษณะของการเล่าเรื่อง จากการที่ผมเคยสอนนักเรียนแพทย์อยู่เรื่อยๆ ก็เลยคิดว่าถ้าผมสอนเป็น เพราะฉะนั้นผมเขียนอย่างที่ผมสอนแล้วกัน”

การเริ่มต้นชวนคิดด้วยประโยคคำถามเป็นกลวิธีหนึ่งในการเขียนหนังสือ เรื่องเล่าจากร่างกาย นอกจากการเริ่มต้นด้วยการปูพื้นให้เห็นเรื่องราวต่างๆ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ให้รู้สึกเหมือนว่าเราเข้าไปอยู่ในยุคประวัติศาสตร์เมื่อหลายล้านปีก่อน และเชื่อมโยงเนื้อหาโดยการใช้คำถามในการดำเนินเรื่อง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าทุกอย่างเป็นเหตุผลของกันและกัน เช่น ทำไมผู้ชายชอบสาวๆ ที่มีส่วนโค้งส่วนเว้า? ทำไมผู้ชายต้องเป็นฝ่ายจีบผู้หญิง? ความเครียดกับความอ้วน? จึงเป็นการยกคำถามนำมาอธิบายด้วยเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้

“การศึกษาวิวัฒนาการจึงเป็นการตอบคำถามสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นต่อร่างกายและจิตใจของเราล้วนมีที่มาที่ไปและเหตุผลเช่นกัน สมมติว่าเราได้กลิ่นอะไรสักอย่างมันเหม็นมาก ร่างกายของเรามันตอบสนองเอง แต่ขณะเดียวกันแมลงวันมันได้กลิ่น เราไม่รู้ว่ามันพูดว่าอะไร แต่เรารู้ว่ามันชอบ ฉะนั้นมันมีเหตุผลของสัตว์แต่ละชนิดถูกสร้างขึ้นมา แล้วเราทำไมรู้สึกเหม็น เพราะสมองเราถูกสร้างมาอย่างนี้ เราไม่ได้คิดหรือตั้งใจที่จะรู้สึกกระอักกระอ่วน แต่ร่างกายมันจัดการของมันเอง”

ชนะความเครียดด้วยรอยยิ้ม
ในหนังสือเล่มนี้ หมอเอ้วได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องของความเครียดไว้หลายบทด้วยกัน เพื่ออธิบายถึงความเครียดว่าทำให้เราป่วยได้อย่างไร ซึ่งบอกผ่านวิวัฒนาการจากอดีตที่คนเรายังไม่มีความเครียดมากเท่ากับปัจจุบันนี้

“สังคมของเราในสมัยก่อนอยู่กันเป็นเผ่า ประมาณ 150 คน และทุกคนจะรู้จักกันหมด ทำงานวันละ 10 ชั่วโมง นอกจากนั้น ชีวิตในแต่ละวันจะมีเวลาว่าง เมื่อว่างจะเตรียมอาหาร ทำอาวุธเพื่อใช้ในการล่าสัตว์ นั่นคือระบบความเครียดของเราสร้างมาให้เหมาะกับโลกแบบนั้น แต่โลกทุกวันนี้เราอยู่กันเยอะ สมัยก่อนเราไม่มีนาฬิกาทุกวินาทีไม่มีความหมาย เรารู้แต่ว่านาฬิกาเราคือพระอาทิตย์กับพระจันทร์ แต่ทุกวันนี้แค่ช้าไป 5 นาทีทำให้เราใจเต้นเร็วได้ พวกนี้คือความเครียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เรารู้สึกตึงอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว”

คนเราสะสมความเครียดโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ในวันหนึ่งๆ คนเราอยู่กับสภาวะตึงเครียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งในบางครั้ง บางที เรารู้สึกได้ว่าปวดเมื่อยไปทั่วตัว สาเหตุหนึ่งมาจากความเครียดจึงทำให้กล้ามเนื้อยึดตึงอยู่ทั้งวัน และยังมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคอื่นๆ ได้อีก ดังนั้น หมอเอ้วจึงแนะนำวิธีการกำจัดความเครียดง่ายๆ ด้วยการยิ้ม

“ความเครียดจะเป็นปัญหาถ้าเกิดขึ้นนานเกินไป เราจึงควรหลีกเลี่ยงความเครียด แต่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วเราต้องมีวิธีการตัดความเครียดให้เร็วที่สุด อาจจะฝึกจิตหรือทำอะไรก็แล้วแต่ แต่อยากให้สังเกตอย่างหนึ่งว่า ร่างกายกับจิตใจคนเรามันจะไปด้วยกัน สมมติว่าเรายืนแล้วทำท่ายิ้มพร้อมกับพูดเสียงดังๆ แล้วพยายามจะเศร้ามันจะทำไม่ได้ แต่ถ้าเรานั่งนิ่งๆ พูดเบาๆ ทำท่าเหมือนกับคนกำลังเสียใจ แล้วพยายามทำให้มีความสุข มันจะทำไม่ได้ มันยากเหมือนการฝืนทำถ้าเราอยากอารมณ์ดี เราแค่ไปยืนหน้ากระจกแล้วก็ยิ้ม จะทำให้อารมณ์ดีง่ายขึ้น ฉะนั้นเรื่องจิตใจ อารมณ์ และร่างกายมันมีความเกี่ยวข้องกันจริง”

4 เคล็ดลับสุขภาพดี
การสร้างสุขภาพที่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับความดูแล ใส่ใจของเจ้าตัวเอง ร่างกายก็เหมือนเครื่องจักร ใช้งานมาก เกินเวลาก็ย่อมมีเสียหายกันบ้าง จึงต้องซ่อมแซมเพื่อให้ใช้งานได้ใหม่ มีประสิทธิภาพที่ดีเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าวันนี้เรายังมีสุขภาพที่ดี อาจเพราะร่างกายยังแข็งแรง ผ่านลมฟ้าลมฝนมาน้อย แต่วันหน้าเมื่อคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายก็ย่อมเสื่อมลงได้ ถ้าไม่เริ่มดูแลตั้งแต่วันนี้

“การดูแลตัวเองอย่างแรกที่สำคัญ คือการออกกำลังกาย ผมพยายามออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 6 วัน เข้าฟิตเนส หรือวิดพื้นวันละครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าจะออกกำลังกายจริงๆ ผมชอบออกไปวิ่งข้างนอก ตามสวนสาธารณะ ผมเชื่อว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อย่างที่สอง เรื่องการนอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมทำไม่ค่อยได้ แต่ก็พยายามทำเท่าที่ทำได้ ส่วนเรื่องกิน หลักการง่ายๆ ก็คือการกินอาหารธรรมชาติ ผมพยายามเลี่ยงพวกข้าวขาว พวกแป้ง พวกน้ำตาลเป็นตัวหลัก และกินผักเป็นประจำ

ส่วนเรื่องการนอน ผมเป็นคนนอนน้อยตั้งแต่เรียนหมอ แล้วนอนน้อยมาตลอด แต่พอช่วงหลังอายุมากขึ้นก็พยายามนอนให้มากขึ้น (หัวเราะ) แต่ช่วงก่อนนอนผมพยายามให้เป็นเวลาผ่อนคลาย ก็จะอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์ (หนังสือผ่อนคลาย!) บางคนเขาถามว่าทำไมเขาเครียดตลอดเวลา ผมอ่านหนังสือพวกนี้ ไม่ใช่อ่านวิชาการ เรารู้สึกเหมือนอยากรู้ ถ้าเปรียบกับหนังสืออื่นก็ค่อนข้างจะเหมือนนิยาย ถ้ายากเกินไปผมก็ไม่ชอบ”

นอกจากหนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่อยู่ติดมือหมอเอ้วตลอดเวลาแล้ว ในวันว่างแสนสบายหมอเอ้วจะเปิดดูภาพยนตร์ เพราะชอบดูหนังทุกแนว เพื่อผ่อนคลายอารมณ์บ้างจะได้ไม่เครียดจนเกินไป แต่กระซิบบอกมาอย่างหนึ่งว่า ขอไม่เลือกดูหนังผี (ดูแล้วเครียด)

ถ้าอยากมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ก็สามารถเอาคำแนะนำของคุณหมอนักเขียนคนนี้ไปปฏิบัติตามกันได้ โดยไม่ลืม 4 ปัจจัยสำคัญที่ว่าด้วยเรื่องของความเครียด การออกกำลังกาย อาหาร และการพักผ่อน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดได้ถึงการมีสุขภาพที่ดีในคนคนหนึ่ง ทำทุกอย่างให้พอดีก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพในการดำเนินชีวิต



ไม่ว่างก็ออกกำลังกายได้
สุดท้ายหมอเอ้วขอทิ้งทวนเรื่องของสุขภาพที่คนไม่มีเวลามักมองข้าม หลายคนอาจคิดว่าการออกกำลังกายต้องทำในเวลาว่าง แล้วถ้าไม่ว่างล่ะจะทำอย่างไร ขณะที่หลายคนมุ่งมั่นกับการทำกิจกรรมประจำวัน แต่รู้ไหมว่าในขณะเดียวกันนั้นเราก็ออกกำลังกายง่ายๆ ได้เหมือนกัน

“บางคนคิดว่าการออกกำลังกายนั้นต้องมีเวลา แต่จริงๆ มันไม่ใช่อย่างนั้น อย่างเช่นสมมติเราต้มน้ำอยู่ ระหว่างที่รอน้ำเดือด ก็ออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการลุกนั่งสลับกัน หรือไม่ก็กระโดดตบ อาจจะเป็นเวลาแค่ 2-3 นาที เราพยายามแทรกไปในทุกกิจกรรมที่ทำอยู่ปกติ ถ้าเลือกเดินได้ก็เดิน อย่างผมถ้าเดินก็จะเดินเร็ว ขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์ หรือแม้แต่กระเป๋าสะพายก็เปลี่ยนมาเป็นถือบ้าง ให้รู้สึกเหมือนเราได้ออกกำลังกายอยู่” (หมอเอ้วอธิบายพร้อมทำท่าประกอบให้ดู)

“ทุกวันนี้จะสังเกตเห็นว่าบางคนจะนั่งนิ่งอยู่เฉยๆ เป็นเวลานานโดยไม่ขยับ ซึ่งบางครั้งเราใส่พวกนี้เข้าไปในกิจกรรมของแต่ละวันก็จะดีมาก ในงานวิจัยได้บอกว่าการทำสิ่งเหล่านี้ในทุกๆ วันมีผลดีต่อร่างกายค่อนข้างเยอะ ตอนที่เราอายุน้อยจะมีความคิดที่ว่า เราต้องไม่ตาย และใช้ชีวิตเหมือนเราจะไม่ตาย เรามีความสุขตรงนี้จึงทำโดยไม่คิด แต่พอแก่ขึ้นกลับอยากที่จะย้อนเวลากลับไปเพื่อแก้ไขเรื่องการดูแลสุขภาพตรงนั้น แต่ความจริงแล้วไม่มีใครย้อนกลับไปได้ หลายคนก่อนตายเคยพูดว่า ความสุขที่เคยสูบบุหรี่ตอนนั้น มันเทียบไม่ได้เลยกับการป่วยเป็นมะเร็งตอนนี้ กว่าจะคิดได้ก็อาจสายไปเสียแล้ว”

 

ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย ธัชกร กิจไชยภณ



กำลังโหลดความคิดเห็น