xs
xsm
sm
md
lg

“บางกอกไอศกรีม” ปิ๊งไอเดีย ไอศกรีมรสชาติไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บ.ฟรีซแลนด์ โปรดักส์ จก. ปิ๊งไอเดียทำไอศกรีมรสชาติไทย ฝอยทอง หม้อแกง ซาหริ่ม ฝรั่งแช่บ๊วย ฯลฯ ใช้แบรนด์ “บางกอกไอศกรีม” เน้นพัฒนากระบวนการผลิตไม่หยุดนิ่ง พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอย่าง iTAP ช่วยลดค่าใช้จ่ายของสารทำความเย็น, ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตไอศกรีมและปรับปรุงประยุกต์ใช้ระบบ GMP และ HACCP คาดต้นปี 2553 ความอร่อยจะปกคลุมทุกภูมิภาค ตั้งเป้า ‘ผู้นำไอศกรีมสัญชาติไทย’ สู้กระแสไอศกรีมต่างชาติ ด้วยเทคโนโลยีมาตรฐานระดับสากล
 พีรศักดิ์ กุลถี กรรมการผู้จัดการบริษัทฟรีซแลนด์ โปรดักส์ จำกัด
ทุกคนมักจะมีความสุขเมื่อได้สัมผัสกับรสชาติและลิ้มรสไอศกรีม บริษัท ฟรีซแลนด์โปรดักส์ จำกัด นำความอร่อยของไอศกรีมรูปแบบใหม่รสชาติที่คุ้นเคยและเลือกวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้เป็นหลัก วันนี้ไอศกรีมสัญชาติไทยแท้จากแดนใต้ จ.สุราษฏร์ธานี จึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคอไอศกรีมไทย

บริษัท ฟรีซแลนด์โปรดักส์ จำกัด ก่อตั้งปี 2527 และเริ่มผลิตไอศกรีมโดยใช้แรงงานและเครื่องจักรอย่างง่าย จนถึงปี 2538 บริษัทฯได้นำเข้าชุดเครื่องจักรผลิตไอศกรีมอัตโนมัติจากประเทศอิตาลี และได้มีการนำเข้าและพัฒนาเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ขยายพื้นที่จากการขายเฉพาะบางส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี จนมีสาขาเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และวางแผนขยายตลาดครอบคลุมทั่วประเทศ

บริษัทดังกล่าว ก่อตั้งโดย ประยูร กุลถี และปราณีต กุลถี เป็นบริษัทของคนไทย 100 % เดิมชื่อบริษัทไอศกรีมเบต้า (1989) จำกัด ผลิตและจัดจำหน่ายไอศกรีม ภายใต้ยี่ห้อเบต้า (Beta) ฮอลลี่ (Holly) และได้เปลี่ยนมาเป็นยี่ห้อ “มาร์ช” (March) และด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ที่สร้างวัฒนธรรมคิดบวกและหาโอกาสของทีมบริหาร จึงเกิดแนวคิดด้านนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไอศกรีมอย่างไม่หยุดยั้ง จนปัจจุบันมีแผนจะวางตลาดไอศกรีมภายใต้ยี่ห้อใหม่ คือ “บางกอกไอศกรีม” และคาดว่าจะออกสู่ตลาดช่วงต้นปี 2553

พีรศักดิ์ กุลถี กรรมการผู้จัดการบริษัทฟรีซแลนด์ โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับสินค้าตัวใหม่อย่างบางกอกไอศกรีมนั้นจะเน้นรสชาติสไตล์คนไทย เนื่องจากใช้วัตถุดิบทำมาจากขนมไทยที่เราคุ้นเคย เช่นทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หม้อแกง ซาหริ่ม ฯลฯ

“เราพยายามจะทำให้เป็นสินค้าที่ได้จากธรรมชาติมากที่สุด หลีกเลี่ยงการนำเคมีเข้ามาเป็นส่วนผสม และเน้นวัตถุดิบในท้องถิ่น อย่างวัตถุดิบหลักของไอศกรีม ได้แก่ น้ำตาล นม และมะพร้าว ซึ่งนมจะมีปัญหาเรื่องการนำเข้าที่ต้องมีโควตาจากต่างประเทศในจำนวนจำกัด

เดิมเราใช้นมในกระบวนการผลิตปีละร่วม 10 ล้านบาทซึ่งลดการใช้นมลง และนำมะพร้าวมาทำกะทิทดแทนในกระบวนการผลิตจะดีกว่า แม้ต้นทุนจะไม่แตกต่างจากเดิม แต่ได้ใช้ของไทยช่วยเหลือสินค้าไทยด้วยกัน ซึ่งแนวคิดของแบรนด์จะเป็นแบบนี้ คือ ไอศกรีมไทยๆ แต่คนต่างชาติก็ทานได้ ”



ณัฐวุฒิ พลายด้วง ผู้จัดการทั่วไปบริษัทฟรีซแลนด์ โปรดักส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราเป็นโรงงานไอศกรีมที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 4,500 ตันต่อปี โดยใช้วัตถุดิบหลักคือ “กะทิ” ซึ่งจะแตกต่างจากที่อื่นที่ใช้นมเป็นส่วนผสมหลัก แต่ด้วยโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่มีวัตถุดิบเป็นจำนวนมากอย่างจังหวัด
สุราษฎร์ธานี จึงมองเห็นโอกาสของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ไอศกรีมหลากหลายกว่า 200 ชนิด และมีตัวแทนจำหน่ายกว่า 10 ศูนย์เกือบทั่วประเทศ”

สำหรับแบรนด์ใหม่อย่าง ‘บางกอกไอศกรีม’นั้น เกิดจากการจุดประกายความคิดว่า บางกอก คือ ประเทศไทยดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีทั้งขนม ผลไม้ สมุนไพรไทยที่มีคุณค่าทางอาหารและเป็นยารักษาโรค ดังนั้นเอกลักษณ์ไทยเหล่านี้จึงเป็นที่มาของบางกอกไอศกรีม ซึ่งเป็นไอศกรีมที่เปี่ยมไปด้วยรสชาติแท้ของ 3 สิ่งข้างต้น อีกทั้งสามารถตอบโจทย์ในอนาคตว่า ไอศกรีมจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

ขณะนี้มีการวางจำหน่ายไอศกรีมดังกล่าวไปตามตัวแทนจำหน่ายประมาณ 5,000 ตู้ โดยสามารถเก็บในตู้แช่ซึ่งมีอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียสได้นานกว่า 12 เดือน แต่เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่สามารถจำหน่ายหมดภายในเวลา 3 เดือนจึงมีการเปลี่ยนสินค้าใหม่อยู่เสมอและค่อนข้างหมุนเวียนได้รวดเร็ว โดยจะเริ่มเจาะตลาดในภาคใต้รวมทั้งกรุงเทพฯ และตั้งเป้าไว้ 200 แห่งทั่วกรุง สำหรับอนาคตวางแผนให้มีตัวแทนจำหน่าย 1 แห่งในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
หน้าโรงงาน
แนวคิดของการทำงานที่ไม่เคยหยุดนิ่งยังทำให้ ทีมงาน ฟรีซแลนด์ โปรดักส์ มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้หลักสูตรการวินิจฉัยโรงงานของบริษัทจากญี่ปุ่น(Shindan)ทำให้ทราบว่าในโรงงานของตนยังต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเรื่องกระบวนการผลิตบางอย่าง อีกทั้งยังได้เข้าร่วมในงานแสดงสินค้าอาหารจึงได้รับคำแนะนำให้รู้จักกับ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ในสังกัด สวทช.

ด้วยจังหวะและโอกาสดีนี้ จึงทำให้เกิด โครงการเทคโนโลยีการผลิต กระบวนการผลิตไอศกรีมแบบกึ่งอัตโนมัติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญได้แก่ รศ. ไพบูลย์ ธรรมรัตน์วาสิก , ผศ. ดร. จักรี ทองเรือง , ดร.เถวียน บัวตุ่ม จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและพัฒนางานร่วมกันซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการนี้เกิดขึ้น เพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายของสารทำความเย็นของเครื่องแช่เยือกแข็งไอศกรีม , ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตไอศกรีม และปรับปรุงประยุกต์ใช้ระบบ GMP และ HACCP ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ตู้แช่ของ “บางกอกไอศรีม”
ผู้จัดการทั่วไป บริษัทฟรีซแลนด์ โปรดักส์ กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญ iTAP ได้เข้ามาช่วยให้คำแนะนำหลายอย่าง อาทิ กระบวนการผลิตไอศกรีม โดยเฉพาะเมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคน ทำอย่างไรไม่เกิดการสูญเสีย อย่างกระบวนการปักไม้ไอศกรีมจะเกิดการสูญเสียมากที่สุด ทำให้ต้องปรับแต่งเครื่องจักรเดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อลดการสูญเสียให้น้อยลง

“ เดิมก่อนเข้าร่วมโครงการ iTAP กระบวนการผลิตบางอย่างยังมีความสูญเสียอยู่ที่ประมาณ 18% แต่ขณะนี้ลดเหลือ 4% ดังนั้นทำให้ต้นทุนลดลงไปด้วย ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่จัดการต้นทุนก็จะสูงขึ้นทำให้ขายในราคาเดิมไม่ได้ เช่น สารทำความเย็นที่ใช้ในการผลิตไอศกรีมจะมีราคาเกือบ 52 บาทต่อกิโลกรัม และต้องใช้เดือนละประมาณ 2 ตันซึ่งเยอะมากในช่วงกระบวนการผลิต 1 ชั่วโมงต้องใส่สารนี้ลงไป 7 กว่ากิโลกรัม

แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการ iTAP ทำให้ลดการใช้สารทำความเย็นลงไปเหลือเพียง 6 กิโลกรัม ช่วยให้ต้นทุนลดลงขณะที่ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้นซึ่งหากคิดเป็นเวลา 1 ปี เราสามารถประหยัดเงินในการใช้สารชนิดนี้ลงเกือบ 300,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว”

ผลการเข้าร่วมกับโครงการ iTAP ยังทำให้สามารถวิเคราะห์การสูญเสียสมบัติของสารทำความเย็นของเอธิลีนไกลคอล , ลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไอศกรีม รวมทั้งปรับปรุงการประยุกต์ใช้ระบบ GMP และ HACCP ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยบริษัทฯยังตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายสำหรับปี 2553 ไว้ที่ 30%

ความสำเร็จของ ฟรีซแลนด์ โปรดักส์ นั้นเกิดจากความมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ รวมทั้งการบริการที่ดี เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า พร้อมคาดหวังในการเป็น ‘ผู้นำไอศกรีมไทยแท้’ จึงสร้างสรรค์ไอเดียไอศกรีมรสชาติไทยๆ สารพัดรสออกมาให้คนไทยได้ลิ้มลองอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น