xs
xsm
sm
md
lg

“รุ่งชัยกิจ” โรงสีข้าวท้องถิ่นยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจอมพจน์ เกษมรุ่งชัยกิจ
ไอแท็ป - "โรงสีรุ่งชัยกิจ" ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ระบุ iTAP ช่วยแก้โจทย์โรงสีได้ตรงจุดและเห็นผลจริง หนุน ผู้เชี่ยวชาญเข้าเสริมเทคนิค-เพิ่มทักษะบุคลากร พัฒนาเครื่องกะเทาะเปลือกข้าวและเครื่องขัดขาว ส่งผลให้ปัญหาเปอร์เซ็นต์ข้าวหักลดลง ได้ผลผลิตข้าวขาวเต็มเมล็ดเพิ่มขึ้น สร้างรายได้กลับเข้าโรงสี และลดค่าไฟได้ถึงปีละกว่า 1 แสนบาท

“ข้าว” อาหารหลักของคนไทยและประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี แต่จะมีใครรู้บ้างว่าข้าวที่บริโภคกันอยู่นั้น ผ่านการสีอย่างมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ความแตกต่างระหว่างข้าวเต็มเมล็ดกับข้าวหักเป็นอย่างไร เพราะเหตุใด โรงสีข้าวจึงต้องหันมาปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยกลไกของเทคโนโลยีท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง

โรงสีรุ่งชัยกิจ โรงสีขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิต 80 ตันข้าวเปลือกต่อวัน ตั้งอยู่ ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ก่อตั้งมายาวนานกว่า 60 ปี แม้เป็นโรงสีขนาดเล็กแต่ “แจ๋ว” ที่ยังยืนหยัดในธุรกิจอุตสาหกรรมโรงสีข้าวโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตบนพื้นฐานของความพอเพียง

“การทำธุรกิจในปัจจุบันซึ่งมีการนำกลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาใช้ ยิ่งทำให้การแข่งขันมีความรุนแรง เราจึงยิ่งต้องละเอียดทุกจุด อะไรที่ประหยัดได้ อะไรที่ควรทำต่อให้สิ่งนั้นดูเล็กน้อยเพียงใดก็เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องทำและควรมีการประเมินตัวเองว่ามีจุดด้อยตรงไหนที่ต้องเร่งแก้ไข ในฐานะโรงสีขนาดเล็กยิ่งจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อลดต้นทุน และควบคุมการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจะช่วยให้มีกำไรที่เหมาะสมและอยู่รอดได้” จอมพจน์ เกษมรุ่งชัยกิจ ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงสีรุ่งชัยกิจ กล่าว

จอมพจน์ เล่าให้ฟังว่า เข้ามาดูแลกิจการได้ 4 ปีแล้วในฐานะลูกชายคนโตหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ MBA จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2549 เมื่อเข้ามารับสืบทอดกิจการจึงได้ศึกษาธุรกิจและอุตสาหกรรมโรงสีข้าว พบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจโรงสีมีการแข่งขันรุนแรง ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันทางด้านราคา เพราะจากจำนวนโรงสีที่มีกว่า 43,000 แห่งทั่วประเทศ ทำให้มีการแย่งซื้อวัตถุดิบ คือ ข้าวเปลือก แต่เนื่องจากข้าวขาวที่สีได้มีคุณภาพไม่แตกต่าง ส่งผลให้เกิดการตัดราคาขายข้าวขาวกันเองระหว่างโรงสีด้วยกัน จึงถือเป็นความจำเป็นต้องมองหาวิธีลดต้นทุนการผลิต

เมื่อโจทย์ของโรงสีแห่งนี้ คือ ‘การลดต้นทุน’ ประกอบกับการทำธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาซึ่งละเลยและขาดความใส่ใจเรื่องของประสิทธิภาพการผลิต จึงส่งผลให้รายได้และกำไรของโรงสีที่ควรจะได้รับแต่กลับหายไป รวมถึงพนักงานส่วนใหญ่ที่เป็นคนเก่าแก่และอยู่ในวัยใกล้เกษียณ ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขเบื้องต้น คือ ‘ การผลิตข้าวขาวอย่างมีประสิทธิภาพ ’ ซึ่งทางโรงสีต้องการปรับปรุงการผลิต แต่ไม่แน่ใจถึงแนวทางในการปรับปรุงนั้นควรจะเป็นอย่างไร และขาดที่ปรึกษา (ผู้เชี่ยวชาญ) ที่จะสามารถชี้แนะได้

ในฐานะคนรุ่นใหม่ ที่เล็งเห็นประโยชน์ในการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้เข้ามาใช้ จากประสบการณ์ที่จอมพจน์ได้รับเมื่อครั้งทำงานในบริษัทเอกชนว่า ‘การจะประสบความสำเร็จได้ส่วนหนึ่งมาจากการใช้เทคโนโลยี’ แต่ปัญหาคือการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องคุ้มค่ากับการลงทุน จึงกลายเป็นโจทย์ใหม่สำหรับผู้บริหารมือใหม่

จอมพจน์ กล่าวว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าไปมาก เป็นโอกาสที่จะนำเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ และต้องคุ้มค่ากับการลงทุน จึงมองหาหน่วยงานเข้าช่วยจนได้รู้จักกับ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สวทช. เครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนสำหรับการผลิตข้าวขาว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของโรงสีรุ่งชัยกิจ เมื่อปี 2551 ใน “ โครงการการพัฒนาระบบควบคุมอัตโนมัติของเครื่องกะเทาะเปลือกข้าวและเครื่องขัดขาว” โดย iTAP จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มี ผศ.พนมกร ขวาของ ผู้จัดการสำนักงานพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าคณะฯ เข้าเป็นที่ปรึกษา พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการร้อยละ 50

ผลที่ได้จากโครงการฯ ทำให้โรงสีรุ่งชัยกิจได้ระบบควบคุมอัตโนมัติใน 2 กระบวนการผลิตหลักสำหรับเครื่องกะเทาะเปลือกข้าว และเครื่องขัดขาว เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดจากเดิม 45 % เพิ่มขึ้นเป็น 48.5% ได้ข้าวเต็มเมล็ดเพิ่มขึ้น ปริมาณข้าวหักลดลง ส่งผลให้ปัจจุบันสามารถเพิ่มมูลค่าข้าวต้นเป็นเงินกว่า 40,500 บาทต่อวัน และลดค่าไฟฟ้าที่ใช้โดยไม่เกิดประโยชน์ลงได้ประมาณ 100,000 บาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ต่อเดือนที่สามารถลดค่าไฟลงได้ เพราะการทำงานของเครื่องจะสั่งทำงานต่อเมื่อมีเมล็ดข้าวเปลือกตกลงเต็มหน้ายางเท่านั้น หากไม่มีข้าวเปลือกหรือมีข้าวเปลือกในปริมาณน้อยเกินไป ระบบจะหยุดทำงาน ทำให้สามารถลดเวลาเดินเครื่องกะเทาะเปลือกข้าวลงจากเดิมใช้เวลานานถึง 8 ชม.ต่อวัน เหลือเพียง 4 – 5 ชม.ต่อวัน และยังช่วยยืดอายุการใช้งานของลูกยางกะเทาะเปลือกข้าว ลดการสิ้นเปลืองค่าอะไหล่ลูกยางดังกล่าวได้ถึง 128,000 บาทต่อปี อีกทั้งได้เพิ่มทักษะการทำงานให้กับบุคลากรของโรงสีอีกด้วย

จอมพจน์ กล่าวว่า การที่ข้าวหักมีปริมาณลดลงมากเท่าไหร่ จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการสีข้าวเพิ่มมากขึ้น เพราะราคาข้าวเต็มเมล็ดและราคาข้าวหักจะต่างกันอยู่ประมาณ 3-4 บาทต่อกิโลกรัม หลังการปรับปรุงระบบฯ สามารถควบคุมให้ชุดทำงานทั้ง 2 ขั้นตอน คือ เครื่องกะเทาะและเครื่องขัดขาวทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ล่าสุดสามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์ข้าวต้นเป็นไปตามมาตรฐาน คือ ได้เปอร์เซ็นต์ข้าวต้นเพิ่มขึ้นเป็น 48.5% เช่นเดียวกับเครื่องขัดขาวที่จะต้องมีความดันในห้องขัดขาวที่เหมาะสม ซึ่งในกระบวนการนี้ก่อนปรับปรุงระบบฯ ทำให้เปอร์เซ็นต์ข้าวหักเพิ่มขึ้นจากค่ามาตรฐาน 2% แต่หลังการปรับปรุงระบบอัตโนมัติสำหรับการยกหินโคลนในเครื่องขัดขาว ส่งผลให้มีเปอร์เซ็นต์ข้าวหักจากกระบวนการนี้ลดลงอีก จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

ด้านนายสุรศักด์ จันทร์โทริ หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประสิทธิภาพโรงสีข้าวภายใต้โครงการ iTAP เครือข่าย มข. กล่าวเสริมว่า โรงสีข้าวของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีมายาวนานกว่า 70 ปี ดังนั้นการจะพัฒนาประสิทธิภาพโรงสีต้องเกิดจากวิชั่นของผู้ประกอบการเจ้าของโรงสีเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะเป็นการนำวิทยาศาสตร์เข้าไปปฏิวัติระบบการแปรรูปข้าวให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นแทนการใช้ไสยศาสตร์อย่างที่ผ่านมา ยังต้องเพิ่มทักษะความรู้วิธีการจัดการภายในโรงสี ตลอดจนนำเครื่องมือต่างๆ เข้ามาใช้ เพื่อให้สามารถตรวจวัดคุณภาพได้ อาทิ เครื่องวัดความเร็วลม , เครื่องวัดความแข็งของลูกยาง , เครื่องวัดอุณหภูมิของข้าว ฯลฯ ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมา ไม่เคยมีการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ในโรงสีข้าวแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวว่า “ การได้เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดเพิ่มขึ้นแม้เพียง 1 % ก็สามารถช่วยเพิ่มรายได้กลับเข้าโรงสีกว่า 10,000 บาท ดังนั้น หากปริมาณเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดจากกระบวนการสีข้าวได้เพิ่มขึ้น 3-5 % ต่อวันก็ถือว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากสำหรับโรงสีขนาดเล็ก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ปัจจุบันเราสามารถลดปัญหาการนำเข้าเครื่องจักรราคาแพงที่ไม่เหมาะสมลงได้ เช่นกรณีของกลุ่มสหกรณ์โรงสีข้าวหลายแห่งที่ต้องปิดกิจการลงเหลือไม่ถึง10 %เพราะประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องจากปัญหาการใช้เครื่องจักรและการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง ”

ทั้งนี้ จอมพจน์ กล่าวว่า “ โครงการ iTAP ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มั่นใจว่า ยังมีหน่วยงานของรัฐที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้จริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการของ iTAP ที่แตกต่างจากหลายๆ หน่วยงาน เพราะมีความคล่องตัวในการทำงาน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือแนะนำดูแลอย่างดี และต้องยอมรับว่า iTAP เป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างมาก แม้จะเป็นโรงสีเล็กๆ แต่ iTAP ยังให้ความสนใจช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ที่สำคัญยังได้รับความรู้มากมายจากโครงการ iTAP อีกด้วย ”

ปัจจุบัน โรงสีรุ่งชัยกิจมีบุคลากร 8-9 คน และยังคงกำลังการผลิตไว้ที่ 80 ตันต่อวันแม้จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แต่ยังคงดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานแห่งความพอเพียง เน้นผลิตข้าวสารเหนียวส่งจำหน่ายทั่วประเทศ ภายใต้แบรนด์พัดลมและมงกุฎเอ อนาคตวางแผนต่อยอดการพัฒนา “คุณภาพชีวิต” ของพนักงาน และ “เทคโนโลยีสะอาด” เพื่อสุขภาวะการทำงานที่ดีขึ้น
เครื่องกะเทาะเปลือกข้าวที่ได้รับการพัฒนาระบบใหม่จาก iTAP
เครื่องขัดขาวที่ได้รับการพัฒนาระบบจาก iTAP
ตัวอย่างข้าวหักที่เกิดจากกระบวนกะเทาะและขัดขาว

เปลือกข้าวในช่องที่ถูกกำหนดปริมาณข้าวก่อนไหลลงสู่ลูกยางเพื่อรอการกะเทาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น