xs
xsm
sm
md
lg

"Corn cider" น้ำส้มสายชูหมักจากข้าวโพดฝักอ่อน ฝีมือคนไทยรายแรกของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักจากข้าวโพดฝักอ่อน
ไอแท็ป - สวทช. หนุน บ. แอกโกรนิก้า จก. นำน้ำลวกข้าวโพดฝักอ่อน เพิ่มมูลค่า ผ่าน 3 โปรเจคต่อเนื่อง อาทิ ร่วมพัฒนาหัวเชื้อน้ำส้มสายชูหมัก, นำเข้าถังหมักต้นแบบจากเยอรมัน, พัฒนากระบวนการผลิตในถังหมักขนาด 100 ลิตร ต่อยอดสู่ถังหมัก 600 ลิตรจากฝีมือผู้เชี่ยวชาญไทย จนได้ผลิตภัณฑ์ ‘น้ำส้มสายชูหมักเกรดคุณภาพรายแรกของไทย’ ยกระดับผลิตผลสินค้าเกษตรไทย ผงาดในตลาดโลก ล่าสุด บริษัทสามารถลดต้นทุนนำเข้าน้ำส้มสายชูได้ถึงปีละกว่า 1.7 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้ายอดขายทั้งปีไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

“ข้าวโพดฝักอ่อน” เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งการแปรรูปบรรจุขวด บรรจุกระป๋อง การส่งออกฝักสด และการแช่แข็งทำให้ปัจจุบันข้าวโพดฝักอ่อนจัดเป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่เริ่มมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นและยังมีแนวโน้มสดใส ทำรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท

นอกจากการแปรรูปดังกล่าวแล้ว ล่าสุดยังมีการเพิ่มมูลค่าให้กับ Co-product มาผลิตเป็น “น้ำส้มสายชูหมักเพื่อสุขภาพ” ผลิตภัณฑ์ใหม่จากน้ำลวกข้าวโพดฝักอ่อนเหมาะสำหรับผู้รักษ์สุขภาพจากการใช้เทคโนโลยีต่างประเทศ พัฒนามาสู่ระบบการผลิตของไทย พร้อมสูตรเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าหัวเชื้อน้ำส้มสายชูปีละกว่า 1.6 - 1.7 ล้านบาทให้กับ บริษัท แอกโกรนิก้า จำกัด ถือเป็นผู้ผลิตน้ำส้มสายชูหมักเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “My garden” รายแรกของไทย ออกสู่ตลาดระดับบนเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงบทบาทการทำงานของ TMC หรือศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีว่า เป็นหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของภาคเอกชนผ่านโครงการต่างๆ อาทิ

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ซึ่งมีจุดเด่นในลักษณะการทำงานแบบเป็นกันเองและมีธรรมชาติความเป็นเพื่อน หมายถึงเริ่มต้นกระบวนการจากปัญหาหรือความต้องการของภาคเอกชนเป็นหลัก ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด และตรงกับความต้องการของ SMEs หรือใน โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมภาคเอกชน (CD) ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคเอกชนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการค้นคว้าวิจัยและพัฒนา ใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตตามความต้องการของบริษัท

จากการบูรณาการในการทำงานของสองโครงการดังกล่าว ยังทำให้เกิดตัวอย่างของบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จ จนสามารถนำน้ำลวกข้าวโพดฝักอ่อน (Co-product) กลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าโดยมีที่มาจากความนิยมรับประทาน ข้าวโพดฝักอ่อนในน้ำส้มสายชูธรรมชาติ เป็นเครื่องเคียงในเมนูอาหารของชาวยุโรป ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศผลิตข้าวโพดฝักอ่อนส่งออกอันดับหนึ่งของโลก แต่ที่ผ่านมามักประสบปัญหาน้ำส้มสายชูที่ใช้ในการผลิตมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีคุณภาพไม่คงที่หรือไม่ได้มาจากธรรมชาติ 100%

ด้วยเหตุนี้ บริษัท แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทคนไทยซึ่งผลิตและส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนในน้ำส้มสายชูหมักบรรจุกระป๋องและขวดแก้ว อันดับหนึ่งของไทย สู่ KING OF BABY CORN รายใหญ่ของโลก (ยอดส่งออกประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี) จากกระบวนการผลิต 15 ตันต่อวัน จึงมีแนวคิดในการนำข้าวโพดฝักอ่อนและน้ำลวกข้าวโพดฝักอ่อน ที่ใช้ในกระบวนการผลิตจำนวนกว่า 5,000 ลิตรต่อวัน มาต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด และเกิดเป็น บริษัท แอกโกรนิก้า จำกัด เพื่อร่วมพัฒนาการผลิตน้ำส้มสายชูหมักธรรมชาติขึ้น โดยส่งให้บริษัทในเครือเป็นหลัก ทำให้สามารถลดต้นทุนในการนำเข้าน้ำส้มสายชูจากต่างประเทศลงถึงประมาณ 1.6 - 1.7 ล้านบาทต่อปี

ผลความสำเร็จครั้งนี้ยังทำให้เกิด Contract Farming (ระบบการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า) ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนในท้องถิ่นที่มีอาชีพทางการเกษตรกว่า 2,000 ครอบครัว รวมทั้งขยายพื้นที่การเพาะปลูกไปสู่จังหวัดใกล้เคียง นำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงกับเกษตรกรไทยต่อไป

นายประภาส ปิ่นวิเศษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอกโกรนิก้า จำกัด กล่าวว่า ความสำเร็จจากการทำงานส่วนหนึ่งมาจากความช่วยเหลือของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผ่าน 2 หน่วยงานในสังกัด คือ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ซึ่งเป็นความร่วมมือพัฒนามาอย่างต่อเนื่องหลายโครงการทำให้บริษัทฯมีทั้งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำกระบวนการผลิต และมีเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนากระบวนการผลิตอันทันสมัย อาทิ โครงการ “การพัฒนาหัวเชื้อน้ำส้มสายชูหมัก เพื่อรองรับเทคโนโลยีผลิตน้ำส้มสายชูจากต่างชาติ” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก iTAP ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาหัวเชื้อน้ำส้มสายชูหมักจากเชื้อ Acrtobactor aceti สป5 (สูตรเฉพาะของบริษัท) ให้สามารถใช้กับถังหมักระบบ FRINGS Acetator

โดยในโครงการนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญได้แก่ รศ.ดร.วราวุฒิ ครูส่ง จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาให้คำปรึกษาในการวางสายการผลิตไวน์น้ำลวกข้าวโพดฝักอ่อนและน้ำส้มสายชูหมัก ผลจากโครงการนี้ทำให้สามารถพัฒนาหัวเชื้อน้ำส้มสายชูหมัก A. aceti สป5 ให้มีความเป็นไปได้ในการหมักน้ำส้มสายชูกับระบบถังหมักจากต่างประเทศ และได้สายการผลิตน้ำส้มสายชูหมัก ซึ่งประกอบด้วยสายการหมักไวน์และสายการหมักน้ำส้มสายชู อีกทั้งยังสามารถพัฒนาบุคลากรของบริษัทให้มีทักษะความสามารถ ส่งผลให้มีผลประกอบการสูงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าถังหมัก FRINGS Acetator กำลังการผลิต 1,200 – 1,600 ลิตร เทคโนโลยีการผลิตภายใต้แบรนด์ Frings (Heinrich Frings GmbH & Co.KG) จากประเทศเยอรมัน ซึ่งได้รับการอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากโครงการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน (CD) เป็นจำนวนเงินประมาณ 12 ล้านบาทในการจัดซื้อ รวมถึงการจัดตั้งห้องปฎิบัติการเพื่อรองรับการตรวจสอบควบคุมคุณภาพและวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน ถูกต้องและสอดคล้องตามข้อกำหนด GMP และ HACCP โดยเทคโนโลยีดังกล่าวยังใช้เป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาถังหมักทำให้ทราบถึงปัจจัยสำคัญในการขยายขนาดถังหมัก สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพัฒนาขึ้นใช้เองในอนาคต

ต่อมาจึงเกิดโครงการ “การพัฒนากระบวนการผลิตน้ำส้มสายชูหมักในถังหมัก High Speed Agitation” ซึ่งเริ่มพัฒนาถังหมัก High Speed Agitation ขนาด 100 ลิตรที่สามารถให้ผลการหมักน้ำส้มสายชูที่ดีและมีแนวโน้มช่วยให้เชื้อจุลินทรีย์ A. aceti สป5 มีประสิทธิภาพในการหมักดีขึ้นจากความสำเร็จของถังหมักต้นแบบนี้ และยังทำให้เกิด การพัฒนาถังหมัก High Speed Agitation ขนาด 600 ลิตรตามมา เพื่อใช้ทดลองในโรงงานต้นแบบ ผลของโครงการดังกล่าวยังประสบความสำเร็จ ทำให้ได้กระบวนการหมักน้ำส้มสายชูหมักจากเชื้อจุลินทรีย์ A. aceti สป5 ที่สามารถใช้กับถังหมักขนาด 600 ลิตรอีกด้วย

กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอกโกรนิก้า จำกัด กล่าวอีกว่า ผลจากการพัฒนาที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการนำข้าวโพดฝักอ่อนและน้ำลวกข้าวโพดฝักอ่อน (Co-product) อันมีคุณค่าทางอาหารมาผ่านกระบวนการผลิต จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง น้ำส้มสายชูหมักเกรดคุณภาพ ภายใต้แบรนด์ My Garden ซึ่งนิยมใช้ในการบริโภคเพื่อสุขภาพ ลดความดัน เบาหวาน ต้านอนุมูลอิสระ แก้ภูมิแพ้ ไอ-จาม เป็นต้น

ด้านการตลาดบริษัทแอกโกรนิก้าฯ ขณะนี้ 80% เป็นการส่งให้บริษัทในเครือ คือ บ. แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อผลิตข้าวโพดฝักอ่อนในน้ำส้มสายชูหมักบรรจุกระป๋องและขวดแก้วส่งออกตลาดทั้งในยุโรป อเมริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง ส่วนอีก 20 % กำลังขยายตลาดในประเทศในรูปแบบของน้ำส้มสายชูหมักจากข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุขวดสำหรับผู้บริโภคคนไทยที่รักษ์สุขภาพก่อนก้าวสู่ตลาดทั่วโลกต่อไป โดยตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2552 มียอดขายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกมียอดขายมากกว่า 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมองว่าหากผลผลิตทางการเกษตรอย่าง “ข้าวโพดฝักอ่อน” ซึ่งสามารถปลูกได้ถึง 5 ครั้งต่อปี จากความได้เปรียบในสภาพภูมิประเทศของไทยที่มีลักษณะอากาศร้อนชื้น ทำให้ได้ผลผลิตเกือบทั้งปี ยิ่งหากมีการนำงานวิจัยและพัฒนามาช่วยเพิ่มมูลค่า ย่อมทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้มั่นคงและสามารถสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมเกษตรไทยเป็นที่ยอมรับ ผงาดเป็นที่ 1 ในตลาดโลกต่อไป
นายประภาส ปิ่นวิเศษ กรรมการผู้จัดการ บ.แอกโกรนิก้า จำกัด
คณะผู้บริหารจาก TMC ร่วมถ่ายภาพกับผู้บริหาร บ.แอกโกรนิก้า จำกัด
ถังหมักขนาด 600 ลิตรที่พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย
กระบวนการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุขวด
ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักฯ บรรจุแกลอน
ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดฝักอ่อนในน้ำส้มสายชูหมัก
ผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักจากข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุขวด
กำลังโหลดความคิดเห็น