xs
xsm
sm
md
lg

เทคโนโลยีบวกภูมิปัญญา แจ้งเกิด “ศูนย์กลางร่มบ่อสร้าง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ด้านหน้าศูนย์ทำร่มบ่อสร้าง ที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
จากภูมิปัญญาของชาวบ่อสร้างที่มีตำนานเล่าขานมานานนับร้อยปีว่ามีพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งชื่อ “พระอินถา” แห่งสำนักวัดบ่อสร้างได้ศึกษาวิชาการทำร่ม พร้อมนำกลับมาถ่ายทอดที่บ้านบ่อสร้าง และชุมชนรอบหมู่บ้าน ในเขต สองอำเภอคือ สันกำแพงและดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ จนเกิดเป็นสถานที่เรียนรู้ ฝึกสอนวิธีการทำร่มให้ชาวบ้านในละแวกกกว่า 7 หมู่บ้าน เพื่อใช้เพื่อถวายพระภิกษุ และใช้กันแดด กันฝนกันเฉพาะในชุมชน จนกลายเป็นอาชีพของคนบ่อสร้างมาจนถึงทุกวันนี้
กัณณิกา บัวจีน   ผู้จัดการ บริษัทศูนย์ทำร่ม(1978) จำกัด
ปัจจุบัน “ร่มบ่อสร้าง” ยังมีการนำเทคโนโลยีมาประสานกับภูมิปัญญา สร้างหัตถกรรมให้มีครูความรู้ในกระบวนการผลิตโดย บริษัท ศูนย์ทำร่ม(1978) จำกัดเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งสืบทอดการทำร่มมาถึงรุ่นลูก
คุณถวิล บัวจีน  คุณพ่อผู้บุกเบิกศูนย์ฯแห่งนี้
นางสาวกัณณิกา บัวจีน ผู้จัดการ บริษัทศูนย์ทำร่ม(1978) จำกัด ซึ่งเป็นทายาทธุรกิจรับช่วงต่อจากรุ่นพ่อ กล่าวว่า ได้สืบทอดธุรกิจการทำร่มไม้ไผ่มาจากคุณพ่อ คือ คุณถวิล บัวจีน ซึ่งเป็นชาวบ้านบวกเป็ด (พื้นที่ติดต่อด้านทิศเหนือของหมู่บ้านบ่อสร้าง) อดีตเป็นมัคคุเทศก์พานักท่องเที่ยวมาชมการทำร่มไม้ไผ่แถบ อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
ใช้เวลาตากแดดให้เนื้อไม้แห้ง 2-3 วัน
“เมื่อนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเห็นหัตถกรรมฝีมือไทยจึงเกิดความประทับใจ คุณพ่อจึงมีแนวคิดจะนำวิธีการทำร่มมารวมไว้แห่งเดียวกันแบบครบวงจร โดยไม่ต้องตระเวนดูการทำชิ้นส่วนร่มกว่า 7 หมู่บ้านมาไว้ในที่เดียวกัน และสามารถเผยแผ่กรรมวิธีการทำร่มให้เข้าใจง่าย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ตั้งอยู่ที่ ใน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ จนกลายเป็น“ บริษัท ศูนย์ทำร่ม(1978) จำกัด” ทำให้เป็นศูนย์กลางที่เป็นจุดเชื่อมต่อและฟื้นชีวิตร่มบ่อสร้างซึ่งขณะนั้นเริ่มเลือนหายไปจากความนิยม เนื่องจากมีร่มสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ และบริษัทฯยังเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมกระบวนการผลิตร่มไม้ไผ่ได้ครบทุกขั้นตอน ทำให้เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น และไม่ใช่แค่เพียงการทำหัตถกรรมใต้ถุนบ้านเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแต่จะเป็นการสร้างอุตสาหกรรมให้เลี้ยงตัวเองได้อย่างมีคุณค่าน่าภาคภูมิใจจนเป็นที่รู้จักในนามศูนย์อุตสาหกรรมร่ม มาจนถึงทุกวันนี้ ”

ผู้จัดการ บริษัทศูนย์ทำร่มฯ กล่าวอีกว่า ร่มบ่อสร้าง นอกจากจะมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์อันเลื่องชื่อแล้ว ชื่อเสียงอีกประการหนึ่งคือ ความทนทาน เนื่องจากสามารถกันแดด และกันฝนได้ขึ้นอยู่วัสดุที่นำมาใช้ โดยขั้นตอนการทำร่มหนึ่งคันจะประกอบด้วย ผ้าหรือกระดาษสา สำหรับทำตัวร่ม ส่วนหัวร่ม ทำจาก ไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้กระท้อน ส่วนโครงร่มและก้านร่มใช้ไม้ไผ่ ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบหลักในการทำ “ร่มบ่อสร้าง”

ด้านกระบวนการผลิตร่มจะเริ่มจากการใช้แป้งเปียกผสมน้ำตะโกหรือน้ำยางมะค่าในการติดผ้าหรือกระดาษเข้ากับร่ม ทำให้ติดทนนานไม่หลุดร่อน อีกทั้งเวลาลงสีน้ำมันจะผสมน้ำมันมะมื้อหรือน้ำมันตังอิ๊วลงไปด้วยเพื่อให้เกิดสีเงางามและยังทำให้ร่มทนแดดทนฝน ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระบวนการเหล่านี้ต้องอาศัยความพิถีพิถันในทุกขั้นทุกตอน

สำหรับหัวร่มและโครงร่มที่ใช้ไม้เนื้ออ่อน และไม้ไผ่ มาผลิตนั้น ทางบริษัทฯ ยังมีแนวคิดสนับสนุนให้พนักงานแจ้งปัญหาในกระบวนการผลิต โดยพนักงานพบว่า ปัญหาของโครงร่มไม้ไผ่ เมื่อส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศนั้น มักแตก หรือไม้มีการหดตัว เนื่องจากอากาศประเทศไทยค่อนข้างจะร้อนชื้น เมื่อร่มส่งออกไปขายยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบยุโรป และ อเมริกา ร่มจะรัดตัวมากขึ้นและบางครั้งด้ามไม้ไผ่เกิดการแตกหัก จึงทำให้ในการทำงานส่วนหนึ่งเกิดจากไม้ที่ใช้ในการผลิตต้องใช้เวลาตากแดดเป็นเวลานาน 2-3 วันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เพื่อไล่ความชื้น
ข้อไม้ไผ่ที่ต้องตัดทิ้งก่อนนำมาผ่าเป็นโครงร่ม ซึ่งหากปล่อยไว้หรือเผาทิ้งอาจทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม บริษัทฯจึงมีแนวคิดจะนำเศษไม้เหล่านี้กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยการทำเป็นถ่าน
“จากที่ไม่เคยคิดว่าต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต แต่ด้วยโจทย์จากพนักงานและลูกค้าจึงทำให้บริษัทฯ เข้าไปขอรับการปรึกษากับโครงการ iTAP(โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ) จนเกิดเป็น “โครงการการทำเตาอบไม้ไผ่” โดยมีคณะอาจารย์จากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาแนะนำ เพื่อสร้างเตาอบไม้ที่มีประสิทธิภาพและสามารถอบไม้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม เหมือนเรามีครูมาสอน แนะนำเทคโนโลยี ทำให้ประหยัดเวลาในการทำงานลงได้ และวิธีการยังเป็นที่ยอมรับกันแบบสากลอีกด้วย”

“นอกจากนี้การทำงานของบริษัทฯจะเน้นเหมือนการเป็นครอบครัวใหญ่ พนักงานบางคนมีอายุมากและเห็นเรามาตั้งแต่เด็กๆทำให้การเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา ดังนั้นเคล็ดลับในการทำงาน คือ เริ่มต้นจากการพัฒนาคนก่อนเพื่อให้คนเปิดใจกว้าง เนื่องจากการทำร่มเป็นหัตถกรรมที่มีมานาน อีกทั้งเป็นงานฝีมือ พนักงานอาจไม่ยอมรับกับเทคโนโลยีหรือวิธีการใหม่ๆ แต่เราก็ให้เขาบอกเล่าถึงปัญหาในการทำงานต่างๆก่อนที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้เปิดใจรับได้ง่ายขึ้นและสร้างการมีส่วนร่วม การทำงานจึงเป็นไปอย่างน่าพึงพอใจ โดยขณะนี้ใช้เวลาอบไม้ลดลงเหลือเพียง 5-7 ชั่วโมงต่อไม้ 300 ชิ้นในกระบวนการผลิตต่อวัน จากเดิมใช้เวลากว่า 3 วัน”
สร้างเตาอบไม้ที่มีประสิทธิภาพและสามารถอบไม้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม
โครงการการทำเตาอบไม้ไผ่ของบจก.ศูนย์ทำร่ม(1978) เริ่มต้นการดำเนินงานโดยมีการสำรวจโรงงานของบริษัทฯเพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของโรงงาน จากนั้นจึงให้คำปรึกษาการสร้างเตาอบไม้ที่มีประสิทธิภาพและด้านเทคนิคการอบไม้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จนขณะนี้บริษัทฯได้ไม้ที่มีคุณภาพดี ลดความสูญเสียจากการบิด งอ ของไม้ลงได้

ผู้จัดการ บริษัทศูนย์ทำร่มฯ กล่าวอีกว่า เมื่อเล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีในใช้ในกระบวนการผลิตจึงได้มีการทำงานอย่างต่อเนื่องกับ iTAP ใน โครงการการทำเตาเผาถ่านไม้ไผ่ โดยโครงการนี้เกิดจากกระบวนการผลิตร่มบ่อสร้างนั้นอดีตยังมีเศษไม้เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะข้อไม้ไผ่ที่ต้องตัดทิ้งก่อนนำมาผ่าเป็นโครงร่ม ซึ่งหากปล่อยไว้หรือเผาทิ้งอาจทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม บริษัทฯจึงมีแนวคิดจะนำเศษไม้เหล่านี้กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยการทำเป็นถ่าน จึงได้ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ iTAP ในการสร้างเตาเผาถ่านที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ได้เทคนิคในการเผาถ่านคุณภาพ และสามารถลดควันที่เกิดจากการเผาถ่าน
ผลิตภัณฑ์ถ่านที่เผาได้นอกจากจะแจกจ่ายให้กับพนักงานในบริษัทฯยังนำมาเป็นของที่ระลึกจำหน่ายเป็นถ่านดูดความชื้นและกำจัดกลิ่นซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายถ่านไม้ไผ่นี้ยังกลับคืนเป็นเงินปันผลให้กับพนักงานอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้ คือ “น้ำส้มควันไม้” ที่สามารถนำไปใช้แช่โครงร่มทดแทนการนำสารเคมีมาใช้เพื่อป้องกันแมลง ส่วนที่เหลือยังได้แจกจ่ายให้กับพนักงานไปใช้ในการเกษตร ด้านผลิตภัณฑ์ถ่านที่เผาได้นอกจากจะแจกจ่ายให้กับพนักงานในบริษัทฯยังนำมาเป็นของที่ระลึกจำหน่ายเป็นถ่านดูดความชื้นและกำจัดกลิ่นซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายถ่านไม้ไผ่นี้ยังกลับคืนเป็นเงินปันผลให้กับพนักงานอีกด้วย
แรงงานเป็นคนในท้องถิ่น
สำหรับการตลาดของบริษัท ศูนย์ทำร่ม(1978) จำกัด ผู้จัดการ บริษัทฯ กล่าวว่า ตลาดสินค้าของบริษัทฯจะแข่งขันด้วยคุณภาพ โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ที่มีคู่แข่งขันคือ จีน, เวียดนาม และ อินโดนีเซีย ที่สินค้าของเราจะต้องเน้นที่ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ลดการนำสารเคมีมาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้ไม่เกิดสารพิษตกค้างซึ่งเป็นจุดเด่นของสินค้า

นอกจากนี้ยังมีลูกค้าในภาคการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม รีสอร์ท สปา ฯลฯ สินค้าของบริษัทฯยังได้รับการยอมรับจาก UNESCO (The Seal of Excellence in Southeast Asia Award ปี 2007 และ 2008) ในการเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ขององค์กรทำให้ได้รับความไว้วางใจในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และจากการเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านอันทรงคุณค่ายังทำให้ “ร่มบ่อสร้าง”กลายเป็นสัญลักษณ์ของงานฝีมือไทยที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยี่ยมเยือน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนการประชาสัมพันธ์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่นำเอาร่มบ่อสร้างไปสาธิตการวาดร่มทั่วโลก เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 “ร่มบ่อสร้าง” ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้เขตพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด และสันกำแพงเป็นสถานที่ผลิตร่มบ่อสร้างไว้เพื่อเป็นมรดกทางภูมิปัญญาให้กับชุมชน
ทำโชว์สดๆ

จำหน่ายสินค้าที่ระลึก
ผู้จัดการ บริษัทศูนย์ทำร่มฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทำงานที่ผ่านมายังตั้งเป้าผลประกอบการในปี 2553 เพิ่มขึ้น 30 % โดยเน้นจุดขายของการเป็นผลิตภัณฑ์ร่มบ่อสร้างที่มีคุณภาพ ลดการใช้สารเคมีให้เหลือน้อยที่สุด
ช่วยสร้างอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ
ด้านความเห็นของการเข้าร่วมในโครงการ iTAP ผู้จัดการ บริษัทศูนย์ทำร่มฯ กล่าวว่า “iTAP ได้เปลี่ยนทัศนคติ จากเคยคิดว่าการทำงานวิจัยและพัฒนาต้องเสียเงินล้วนๆ และเป็นเรื่องยากไกลตัว งานหัตถกรรมไม่เห็นต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่เมื่อได้เข้าร่วมในโครงการจึงทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาการทำงานทำให้สามารถลดต้นทุน ลดของเหลือทิ้ง และยังสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มรายได้
กลายเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.เชียงใหม่
อนาคตยังวางแผนการทำงานว่า อยากเปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้การทำร่ม”ให้ที่นี่กลายเป็นโรงเรียนในโรงงาน สอนลูกหลานแถบอ.ดอยสะเก็ด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ให้มีฝีมือในการทำร่มไม้ไผ่ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทย และเพื่อไม่ไห้สัญลักษณ์ของ ‘ร่มบ่อสร้าง’ สูญหายไป”

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

ข้อมูลโดย : โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ผู้ประกอบการที่สนใจ เข้ารับการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ติดต่อได้ที่ โทร.02-564 -7000 ต่อ 1368 และ 1381
กำลังโหลดความคิดเห็น