หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หลายคนคงจะจำกันได้ถึงร้านสะดวกซื้อรูปแบบดูทันสมัย เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นร้านอะไรไปไม่ได้นอกจากร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ที่จนถึงวันนี้แบรนด์ได้ติดตลาด ทุกเพศทุกวัยได้มีโอกาสเข้าใช้บริการ หรือฝากท้องยามหิว ภายใต้คอนเซ็ปต์ล่าสุด “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” รวมถึงยังเป็นต้นแบบธุรกิจแฟรนไชส์ อันดับต้นๆ ของเมืองไทย ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
มาวันนี้แฟรนไชส์ร้านเซเว่นฯ สาขาแรก ก็ยังดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง ไม่แพ้สาขาที่ทางบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ลงทุนเอง รวมกว่า 18 ปีแล้ว ที่เจ้าของร้านโชวห่วยเล็กๆ แต่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ที่ต้องการจะปรับปรุงร้านให้ดูทันสมัย แข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้ ตัดสินใจขอร่วมธุรกิจแฟรนไชส์ ด้วยเงินลงทุนในยุคนั้นประมาณ 3 ล้านบาท
บุญมี บุญยิ่งสถิตย์ หรือ เฮียมิ้ง เจ้าของแฟรนไชส์เซเว่น อีเลฟเว่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 เล่าว่า อดีตตนเองเป็นเจ้าของกิจการร้านโชวห่วยในซอยเพชรบุรี 5 ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนมีผู้คนพลุกพล่าน ซึ่งกิจการก็ค่อนไปข้างไปได้ดี แต่ด้วยธรรมชาติของร้านโชวห่วยที่เจ้าของต้องขายของเองคนเดียว ต้องอยู่เฝ้าร้านตลอดเวลา เพราะหากปิดร้านก็ขาดรายได้ไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนสินค้าที่จัดวางก็ไม่ได้จัดเป็นหมวดหมู่ ดั้งนั้นการที่ลูกค้าต้องการสินค้าอะไร ก็ต้องผ่านมามือเจ้าของร้านเองทั้งหมด ซึ่งเฮียมิ้งบอกว่า พฤติกรรมดังกล่าวสุดท้ายแล้วก็ดูคล้ายกับ “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” ซึ่งยอมรับว่าเหนื่อยเหมือนกัน
จนกระทั่งมีร้านมินิมาร์ท มาเปิดใกล้กับร้านโชวห่วย ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจในแบบของพี่น้องที่ร่วมกันทำ ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำธุรกิจเกี่ยวกับร้านโชวห่วยมาก่อน ก็ได้รับความสนใจจากคนในละแวกนั้นเป็นอย่างมาก ด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นร้านกระจก สะอาดสะอ้าน และจัดวางสินค้าได้อย่างเป็นระเบียบ
“ในช่วงที่ร้านเรามีคู่แข่ง ก็มีบริษัทฯ ซีพี เข้ามาติดต่อขอเซ้งร้าน แต่ยังไม่ได้แสดงตัว เพียงถามแค่ว่าทำร้านแบบนี้เหนื่อยไหม ซึ่งก็ตรงกับความคิดของเราที่ต้องการจะปรับปรุงพอดี เช่น ติดกระจก ติดแอร์ และมีเครื่องคิดเงินที่สะดวกรวดเร็ว แต่คงต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เนื่องจากขาดประสบการณ์ และเป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินไป สุดท้ายจึงตัดสินใจให้ทางบริษัทซีพี เซ้งร้านไป ในวงเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งครอบครัวผมต้องย้ายออกไปภายใน 3 เดือน ซึ่งเมื่อเวลานั้นใกล้มาถึงจริงๆ สมาชิกในครอบครัวรู้สึกใจหาย ซึ่งภรรยาบอกว่าจริงๆ แล้วไม่อยากไปจากที่นี่ ผมจึงขอยกเลิกสัญญาโดยเสียค่าปรับไปประมาณ 50,000 บาท แต่วงจรชีวิตก็กลับมาในรูปแบบเดิมๆ คือ ยุ่งๆ เหนื่อยๆ สุดท้ายจึงตัดสินใจติดต่อเข้าไปที่บริษัทฯ อีกครั้ง เพื่อขอซื้อแฟรนไชส์ ทั้งๆ ที่ในช่วงนั้นทางซีพี ยังไม่ได้เปิดขายแฟรนไชส์ แต่ด้วยโมเดลธุรกิจร้านเซเว่นกว่า 27 สาขา ก็ถือว่าระบบส่วนใหญ่พร้อมแล้วสำหรับการรองรับธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ จนก่อเกิดเป็นร้านเซเว่น อีเลฟเว่น รหัส 0028 เพชรบุรี 5 ขึ้น”
เมื่อแฟรนไชส์สาขาแรกเกิดขึ้น โดยมีเฮียมิ้งเป็นเจ้าของ ด้วยเงินลงทุน 3 ล้านบาท กลับกลายว่าความเหนื่อยจะลดน้อยลง ด้วยระบบที่ทันสมัย และพนักงานที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี รวมถึงมีเจ้าหน้าที่จากทางบริษัทฯ เข้าไปดูแลและให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเวลา แต่เฮียมิ้งกลับ ยอมรับว่าในช่วง 3 เดือนแรก เหนื่อยมาก เหนื่อยกว่าตอนทำร้านโชวห่วยอีก ถึงขนาดเคยคิดว่าเลือกทางผิดหรือเปล่า จากการที่ร้านต้องเปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง จ้างพนักงาน ต้องเอาเงินไปจมกับสต็อกสินค้ากว่า 6 แสนบาท ในขณะที่มูลค่าสินค้าที่จัดวางภายในร้านประมาณ 4 แสนบาท
ปัจจุบันเฮียมิ้งได้ขยายสาขาแฟรนไชส์รวม 3 สาขาแล้ว โดยอาศัยกำไรที่ได้รับจากการบริหารสาขาแรกมาต่อยอด และล่าสุดได้ให้ลูกชาย และลูกสะใภ้ สานต่อกิจการนี้ คือนายสาธิต หรือ ฮุย ทายาทธุรกิจที่มารับช่วงต่อ แม้ว่าตนเองจะเรียนจบมาทางด้านคอมพิวเตอร์ แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการบริหารร้าน เนื่องจากคลุกคลีมากับร้านเซเว่น มาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งจากร้านของตัวเอง และร้านที่ทางบริษัทซีพีลงทุนเอง
“ผมอาศัยความคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก ที่ตอนทางบ้านยังไม่ได้เปิดร้านเซเว่น ก็มักจะไปอุดหนุนสเลอปี้ (Slurpy) อยู่บ่อยๆ และเมื่อรู้ว่าที่บ้านจะเปิดเป็นร้านเซเว่นเอง ก็รู้สึกดีใจ และพร้อมที่จะช่วยคุณพ่อดูแลร้านนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมคือระบบ ที่ช่วงหลังมีการนำบาร์โค้ดเข้ามาใช้ รวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทางบริษัทฯ ก็จัดให้มีการอบรมให้เป็นเรื่องง่ายขึ้น”
อย่างไรก็ตามแผนการขยายสาขาต่อๆ ไป คงจะเป็นหน้าที่ของทายาทธุรกิจที่ต้องสานต่อ ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมความในเรื่องของบุคคลากรและมาตรฐานการบริการที่ดี โดยคาดว่าภายในปีหน้าจะเห็นร้านเซเว่น ของครอบครัว “บุญยิ่งสถิตย์” เพิ่มอีก 1-2 สาขา